อัยการจัดงานคุ้มครองสิทธิผู้ติดเชื้อ HIV เทิดพระเกียรติ 'พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ กรมหมื่นสุทธนารีนาถ'
"อัยการสูงสุด" ร่วม ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดฯ แถลงข่าวจัดโครงการเทิดพระเกียรติ "พระเจ้าวรวงศ์เธอ ฯ กรมหมื่นสุทธนารีนาถ" วางยุทธศาสตร์ต่อเนื่องปี 73 เมืองไทยไร้โรคเอดส์ ลดการเลือกปฏิบัติ-สร้างความรู้ปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ
เมื่อวันที่ 4 ก.ย.62 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด พร้อมด้วย นางสมศรี วัฒนไพศาล รองอัยการสูงสุด , ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และนายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวจัด โครงการเทิดพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่ทรงได้รับการถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ในการป้องกัน HIV ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก: บทบาทพนักงานอัยการในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิและขจัดการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับ HIV ด้วยรูปแบบสหวิชาชีพ ที่จะจัดขึ้นในวัน 12 ก.ย.นี้ เวลา 14.00 น. ณ อาคารศูนย์ประชุมวายุภักษ์ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะซึ่งจะเพิ่มบทบาทของพนักงานอัยการ ในการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น
สภากาชาดไทย , กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) , กระทรวงแรงงาน , กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โครงการโรคเอดส์ แห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือ UNAIDS , ผู้ประกอบการ และ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยในปีงบประมาณ 2563 สำนักงานอัยการสูงสุดจะทำงานเชิงรุกในการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับ HIV รวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้เกี่ยวข้องกับ HIV เพื่อเป็นการขจัดการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับ HIV ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย
โดย นายเข็มชัย อัยการสูงสุด กล่าวว่า บทบาทสำคัญประการหนึ่งของสำนักงานอัยการสูงสุด คือการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยมีสำนักงานคุ้มครองสิทธิฯ ตั้งอยู่ทั่วประเทศในสำนักงานอัยการจังหวัด การคุ้มครองสิทธิของคนติดเชื้อ HIV เป็นประเด็นสำคัญทางสากล ที่องค์การสหประชาชาติมุ่งสร้างความเข้าใจว่าคนติดเชื้อไม่ใช่คนน่ารังเกียจ ไม่ใช่โรคติดต่อโดยง่าย ทุกคนควรรับรู้และเห็นใจ ซึ่งไทยได้ออกระเบียบคุ้มครอง ขจัดการเลือกปฏิบัติ ลดปริมาณคนติดเชื้อ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัตินั้น เจ้าหน้าที่รัฐพยายามดำเนินการมาโดยตลอด เมื่อพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงได้รับการถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ จึงเป็นโอกาสอันดีในการเทิดพระเกียรติ จุดประกายคุ้มครองสิทธิ ขจัดการเลือกปฏิบัติ และหาทางแก้ไขรักษาผู้ติดเชื้อ
ขณะที่ นพ.ประพันธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยคนติดเชื้อ HIV ลดลง การรักษาป้องกันดีมาก คนติดเชื้อรับยาต้านไวรัสได้ฟรี เชื้อน้อยจนแพร่ไม่ได้ หรือมีความเสี่ยงก็ต้องรีบให้ยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงเป็นประธานงานวันเอดส์โลกมาตลอด พระองค์ท่านทรงทราบความทุกข์ของคนติดเชื้อทั้งทางกายและใจ จึงทรงทำทุกอย่างช่วยผู้ติดเชื้อ เช่น การตั้งกองทุนลดการติดเอดส์จากแม่ตั้งครรภ์สู่ลูก ตั้งกองทุนยา ทำให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ของโลก ในการยุติการถ่ายทอดเอดส์จากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ และมีการจ่ายยา PrEP ป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ทั่วประเทศ
เมื่อถามถึงบทบาทการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ HIV ของสำนักงานอัยการสูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม นางสมศรี รองอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากว่า 10 ปี อัยการมีบทบาทในแง่การให้ความรู้คุ้มครองสิทธิผู้ติดเชื้อ HIV ว่าไม่ควรถูกละเมิดสิทธิ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบ เพราะเมื่อผู้ติดเชื้อมีปัญหาจะถูกเลิกจ้างงาน อัยการก็จะชี้แจงให้ผู้ประกอบการทราบว่าการเอาคนที่เป็นเอดส์ออกจากงานไม่ถูกต้อง และไม่ควรถูกบังคับตรวจเลือดโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม รวมถึงการคุ้มครองเด็กติดเชื้อที่ถูกรังเกียจ ซึ่งกระทบสถาบันครอบครัว โดยจากนี้จะมีการทำงานเป็นเครือข่าย ร่วมกับนายกเหล่ากาชาดทุกจังหวัดเป็นที่ปรึกษา แรงงานจังหวัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด โรงพยาบาล สถานศึกษา เป็นต้น เพื่อลดการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความตระหนักรู้ให้คนปฏิบัติกับผู้ติดเชื้ออย่างเท่าเทียม งานวันที่ 12 ก.ย. นี้ เป็นการ Kickoff เริ่มต้น ไม่ใช่ทำงานวันเดียวจบ แต่เราทำงานต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ เพื่อให้ในปี พ.ศ.2573 ไทยจะไม่มีโรคเอดส์