นายกฯเปิดประชุม 'รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน'
"พล.อ.ประยุทธ์" เปิดประชุม "รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน" ยันพร้อมให้ความร่วมมือ ขับเคลื่อนสู่ความเข้มแข็ง วอนร่วมแก้ปัญหาขยะทางทะเล
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 62 เวลา 09.30 น. ที่ห้อง Ballroom 2-3 ชั้น 2 โรงแรม แชงกรี-ลา กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในวันนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงความกล้าฝันของผู้ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 52 ปีที่แล้ว ที่อยากเห็นภูมิภาคมีความมั่นคงทางการเมือง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางสังคม ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ผ่านปฏิญญากรุงเทพฯ ที่ได้ลงนามไว้ เมื่อปี 1967 และรวมไปถึงผู้กล้าฝันจากรุ่นสู่รุ่นที่ร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว ตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา คงไม่อาจสร้างให้บ้านอาเซียนหลังนี้เติบโตอย่างแข็งแรง และก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างอย่างมั่นคง จากเพียงสมาคมที่รวมกลุ่มกัน มาสู่ การเป็นประชาคม ที่มีการบูรณาการความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในทุกมิติ หากปราศจากความกล้าลงมือของทุกคนในการขับเคลื่อนอาเซียนให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้หากอาเซียนไม่ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาแนวคิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกการลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกัน ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจทำการค้าในอัตราภาษีที่สูง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางการค้าภายในภูมิภาค และไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้มาใช้ประโยชน์จากภาษีที่ลดลงและหากอาเซียนไม่ได้ริเริ่มแนวคิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี โดยการศึกษาความเป็นไปได้และประโยชน์ของการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียน อันนำไปสู่การจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตลาด และฐานการผลิตเดียวที่มีฐานลูกค้ากว่า 630 ล้านคน และจากความเชื่อมโยงและการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ลดต้นทุนในการทำธุรกรรมและการขนส่งระหว่างกัน หากอาเซียนไม่ลงมือเสนอข้อริเริ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป เพื่อรักษาบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับคู่ภาคีภายนอกอาเซียน ทั้ง 6 ประเทศ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจไม่สามารถคว้าประโยชน์จากขนาดตลาดที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก และขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่า GDP กว่า 27.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ32.3 ของ GDP โลก ซึ่งมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้
“คงไม่ได้กล่าวเกินความเป็นจริงว่า การกล้าลงมือของผู้ขับเคลื่อนความฝันในอาเซียนด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและความมุ่งมั่นให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ช่วยสร้างบ้านอาเซียนแห่งประโยชน์และโอกาสสำหรับพลเมืองอาเซียนทุกคนอย่างแท้จริง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ไทยได้แสดงบทบาทอย่างแข็งขัน ในฐานะเจ้าบ้านที่ต่อเติมบ้านหลังนี้ของพวกเราชาวอาเซียนให้มั่นคงและแข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อรองรับกระแสลม แสงแดด สายฝนของความเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่สร้างความสั่นคลอนต่อโครงสร้างและเสาหลักของบ้านอาเซียนได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงได้สานต่อ การขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนต่อไป ด้วยแนวคิดหลัก คือ ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสความท้าทายทางการค้าโลกที่เกิดขึ้น อาเซียนจึงต้องร่วมใจ กันเสริมสร้างความเชื่อมโยง ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ในการผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป ให้บรรลุผลสำเร็จในปีนี้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของอาเซียนและคู่เจรจาในการเชื่อมโยงระบบการค้าการลงทุนเข้าด้วยกัน โดยยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์กติกาเป็นสำคัญ
“และท่ามกลางกระแสความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ อาเซียนจึงต้องร่วมกันรักษาและส่งเสริมความ “ยั่งยืน” ในทุกมิติอย่างเชื่อมโยงกัน อาทิ การทำประมงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล และการวิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัด เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่มาร่วมประชุมกันเป็นรอบปีที่ 51 ในวันนี้จะร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนความฝันของอาเซียนให้ก้าวไกลและ ยั่งยืนผ่านการเตรียมตัวรับมือกับอนาคต เสริมสร้างความเชื่อมโยงและส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าและใกล้ชิดกันมากขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่อาเซียนร่วมกันทำ ร่วมกันขับเคลื่อนมาทั้งหมดตลอดช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ อาจมีคำถามว่า สิ่งนี้พวกเราทำไป “เพื่ออะไร” เราสามารถตอบได้ด้วยความภาคภูมิใจว่า ความตั้งใจและผลที่เราต้องการให้เกิดขึ้น คือ เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวอาเซียนและคนรุ่นหลังทุกคนให้มีความเจริญก้าวหน้า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ ผมขอยืนยันว่าประเทศไทยมีในฐานะประธานอาเซียน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจและมีความพร้อมในการร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน ในการร่วมกันขับเคลื่อนอาเซียนให้มีความเข้มแข็งและยังประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศอื่น ๆ ให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตลอดไป”
นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้เรากำลังเผชิญกับสงครามการค้าและปัญหาอื่นๆ ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้อาเซียนอยู่รอดปลอดภัย โดยอาเซียนต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน หาช่องทางเพิ่มมูลค่าระหว่างกันให้มากขึ้น เพราะไม่มีใครแก้ปัญหาเพียงลำพังได้ เพราะปัญหาเหล่านี้นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันนี้มีหลายประเทศมหาอำนาจ ไม่ได้มีแค่สองฝ่ายเหมือนเมื่อก่อน การแข่งขันก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นอาเซียนจึงต้องเตรียมความพร้อม รวมตัวกันเป็นอาเซปเพื่อเจรจากับกลุ่มอื่นๆ และคาดหวังว่าอาเซปจะจบภายในปีนี้ให้ได้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบจากปัจจัยภายนอกนั้น เราสามารถแก้ได้ด้วยการค้าขายชายแดน และเตรียมมาตรการรองรับราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ
นายกฯ กล่าวว่า ดิสรัปชั่นเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ซึ่งอาเซียนต้องเตรียมความพร้อม มุ่งเข้าสู่การเป็นดิจิทัล เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างองค์รวม ส่วนปัญหาขยะทะเลภูมิภาคอาเซียนถือว่ามีปัญหานี้มากพอสมควร โดยไทยจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากประเทศอาเซียนทั้งหมดให้ร่วมมืแก้ไขปัญหา นอกจากนี้สิ่งที่ห่วงใยคือ ประเด็นด้านแรงงาน ซึ่งอาเซียนจำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มากขึ้น เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อทำงานร่วมกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์ต่อไปในอนาคต เมื่อแรงงานมีฝีมือก็จะได้กลับไปพัฒนาบ้านเมืองของตัวเอง