IUCN นำคณะติดตามความก้าวหน้าการแก้ปัญหาขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
เตรียมบินสำรวจชุมชนกระเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอยวันพรุ่งนี้
โดยในการพบปะคณะทำงานของไทยเมื่อวานนี้ ทางคณะผู้แทนจากสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature : IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยประเมินสถานภาพและคุณค่าเชิงอนุรักษ์ของพื้นที่นำเสนอเพื่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของ UNESCO ได้รับฟังบรรยายสรุปถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าว
โดยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกคราวล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ได้มีการพิจารณาการนำเสนอการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศอีกครั้งของประเทศไทย นับตั้งแต่มีความพยายามมาตั้งแต่ปี 2554
คณะกรรมการมรดกโลกได้มีข้อท้วงติงและคำแนะนำในสามประเด็นหลักๆ ซึ่งประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ทางคณะกรรมการมรดกโลกยังมีความห่วงใย และต้องการให้ไทยกลับไปแก้ไขโดยการปรึกษาหารือกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพื้นที่ให้เรียบร้อยจนไม่มีข้อกังวลหลงเหลือ ก่อนนำเสนอพื้นที่กลับมาเพื่อให้พิจารณาอีกครั้ง
นายมานะ กล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ผ่านแนวปฎิบัติของกฏหมายอุทยานฯฉบับใหม่ที่ได้รับรองสิทธิในการอาศัยในป่าได้ พร้อมแนวทางจัดการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งได้ทำงานล่วงหน้าและมีการจัดประชุมปรึกษาหารือและทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่มาไม่ต่ำกว่าสองปี ซึ่งไม่ได้มีเพียงชุมชนโป่งลึกบางกลอย และเชื่อว่า “เสียงส่วนใหญ่” ของชุมชนได้ให้การสนับสนุนการขึ้นทะเบียนของกลุ่มป่าเป็นมรดกโลกแล้ว จากการทำงานร่วมกัน อาทิ ผ่านการรังวัดแนวเขตพื้นที่ชุมชน
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นเรื่องแนวเขตแดนไทย-พม่าที่ยังไม่ได้ข้อยุติในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นตั้งแต่การประชุมมรดกโลกในปี 2559 ซึ่งประเทศไทยได้พยายามแก้ไขหาข้อยุติ โดยได้ตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับพม่าก่อนการประชุมในปีนี้ ด้วยการปรับลดขนาดพื้นที่ของกลุ่มป่าที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกตามแนวชายแดนลงโดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เป็นพื้นที่หลักของกลุ่มป่า
แต่การปรับลดดังกล่าวกลับเป็นข้อกังวลใหม่ที่เกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบเชิงนิเวศที่อาจเกิดขึ้นต่อคุณค่าความเป็นมรดกโลกของพื้นที่ เพราะการปรับลดพื้นที่ดังกล่าว ทำให้พื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบียนลดลงไปประมาณ 15% คณะกรรมการฯ ต้องการให้มีการศึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อคุณค่าความเป็นมรดกโลกดังกล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เสนอแนะให้ประเทศไทยเชิญคณะที่ปรึกษาจาก IUCN มาช่วยในการเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมจากข้อท้วงติงและเสนอแนะดังกล่าว
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และเจ้าหน้าที่จากกองการต่างประเทศ อส. หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้าร่วมประชุมชี้แจง โดยมีรายงานว่า คณะ IUCN แสดงความเป็นห่วงเรื่องแนวเขตชายแดนระหว่างไทย-เมียนมาร์ ที่ถอยร่นว่าใครจะเป็นผู้ลงนามรับรอง และพื้นที่ช่องว่างของสองประเทศใครรับผิดชอบ
ทางคณะฯ มีกำหนดการเดินทางเยี่ยมชุมชนโป่งลึกบางกลอยในวันพรุ่งนี้ นายมานะกล่าว