รมว.ศธ.เร่งพัฒนาครูให้ทันศตวรรษ 21 สร้างเด็กรู้เท่าทัน-รับมือการเปลี่ยนแปลงโลก

รมว.ศธ.เร่งพัฒนาครูให้ทันศตวรรษ 21 สร้างเด็กรู้เท่าทัน-รับมือการเปลี่ยนแปลงโลก

"ณัฏฐพล" รมว.ศึกษาฯ เผย ศธ.มุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาครู เพื่อให้ทันศตวรรษที่ 21 เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก พร้อมเร่งสร้างเด็กไทยให้เติบโตไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่แข็งแกร่ง รู้เท่าทัน-มีความยืดหยุ่น-สามารถรับมือ ต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล “พระพฤหัสบดี” และรางวัล “ปิยชนน์คนการศึกษา”ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ครบรอบ 16 ปี โดยมีนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. คณะผู้บริหาร พนักงานเจ้าหน้าที่ สกสค.และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมพิธี ณ หอประชุมคุรุสภาซึ่งมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับรางวัลเป็นจำนวนทั้งสิ้น 750 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวแสดงความยินดีแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับรางวัลซึ่งเป็นผู้มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีคุณธรรมจริยธรรมที่น่ายกย่อง สมกับคำว่า “ครู”ช่วยส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของครูและบุคลากรทางการศึกษา 

2_18

“ขณะที่ ศธ. ให้ความสำคัญเรื่องการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างมาก โดยถือว่าครูเป็นผู้ที่สร้างเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต”

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้หารือกับผู้บริหาร ศธ. อยู่เสมอว่า ต้องหาช่องทางพัฒนาครูให้ทันศตวรรษที่ 21 เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งประเทศอื่นสามารถเข้ามาครอบงำประเทศไทยด้วยการกดปุ่มไม่กี่ครั้ง แต่ถ้าหากเรามีเด็กและเยาวชนที่เจริญเติบโตไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่แข็งแกร่ง ก็จะรู้เท่าทันและสามารถรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวได้ 

“เราไม่ได้ต้องการให้เด็กมีความสามารถเท่าคอมพิวเตอร์ แต่ต้องสร้างทักษะของเด็กให้ควบคุมคอมพิวเตอร์ได้ เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ตัวเด็กและเยาวชนต้องมีความยืดหยุ่น สามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้” รมว.ศธ. กล่าว

4_3

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ยังต้องการให้ทุกคนหาวิธี “แบ่งปันแนวคิดการทำสิ่งที่มีประโยชน์” ไปให้แก่เพื่อนร่วมงานที่อยู่ในสถานศึกษาเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโรงเรียน เพื่อสร้างประเทศไทยให้แข็งแรงในโลกแห่งการแข่งขันที่ดุเดือดและรวดเร็ว รวมทั้งต้องรู้ซึ้งถึงปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้การศึกษาของประเทศไทยดีขึ้น ซึ่งความรู้ในศตวรรษที่ 21 จะแตกต่างจากสิ่งที่เคยปฏิบัติมา
 
“วันนี้โลกแห่งเทคโนโลยีโลกกำลังครอบงำการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ เราจึงต้องสร้างเยาวชนให้แข็งแกร่ง เพื่อวันข้างหน้าเยาวชนเหล่านี้จะนำพาสังคม ประเทศชาติเดินหน้าต่อไป”

ขณะเดียวกัน รมว.ศึกษาธิการ ยังกล่าวฝากถึงครูทุกท่านว่า ขอให้มาร่วมกันทำในสิ่งที่อาจมองว่ายากไม่เคยทำมาก่อน หรือมองว่าไม่มีคนให้ความสนใจ แต่ขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและให้ความสนใจด้านการศึกษามากที่สุด 

3_9

“ดังนั้น ศธ. ต้องแสดงศักยภาพทางการศึกษาอย่างสุดความสามารถ ต้องคิดเรื่องใหม่ๆ พัฒถึงนาและต่อยอดต่อไปให้ได้ เพื่อให้นักเรียนแข่งขันได้ในอนาคต  ตลอดจนเน้นย้ำว่าไม่ต้องกังวลในสิ่งที่ผ่านมาแล้วอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่ขอให้มีวิสัยทัศน์และมุ่งมั่นในการเดินไปข้างหน้าอย่างเต็มกำลังความสามารถ”

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูว่า ในเบื้องต้นต้องพิจารณาพื้นฐานของปัญหาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดของการปล่อยเงินกู้ หรือประเด็นที่หลายคนมีหนี้สินเกินตัว ซึ่งต้องแก้ไขเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตด้วย ในส่วนของการเลื่อนวิทยฐานะครู ได้มีการพูดคุยกันมาหลายสมัยแล้ว ซึ่งแนวทางการเลื่อนวิทยฐานะครูอาจจะไม่ทันสมัย ไม่เอื้อให้ครูได้ใช้เวลาในห้องเรียน

ทั้งนี้ ศธ. มีทีมงานพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่ โดยอาจจะต้องรื้อระบบพอสมควร อีกทั้ง ยังมีวิธีการสร้างผลงาน ติดตามและประเมินผลงานอยู่หลายรูปแบบ ซึ่ง ศธ. ต้องหาวิธีจัดการ พร้อมทั้งสื่อสารให้ครูเข้าใจการปรับเปลี่ยน ตลอดจนดูแลกลุ่มครูที่เลื่อนวิทยฐานะไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้เกิดความพึงพอใจกับทุกฝ่าย