‘สี’ เสนอเค้กพลังงาน แลก ‘ฟิลิปปินส์’ เมินข้อพิพาท

‘สี’ เสนอเค้กพลังงาน แลก ‘ฟิลิปปินส์’ เมินข้อพิพาท

ไม่นานนี้ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ เผยว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ยื่นข้อเสนอให้มะนิลาถือหุ้นใหญ่ในโครงการสำรวจก๊าซธรรมชาติที่แหล่ง “รีดแบงค์” โดยแลกกับการเพิกเฉยต่อคำพิพากษาของศาลกรุงเฮกกรณีทะเลจีนใต้ซึ่งไม่เป็นคุณกับปักกิ่ง

ดูเตอร์เต อ้างว่า ประธานาธิบดีสีบอกกับเขาระหว่างการหารือช่วงสิ้นเดือน ส.ค. ว่า หากรัฐบาลฟิลิปปินส์ทำเป็นเพิกเฉยต่อคำพิพากษาเมื่อปี 2559 ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร จีนก็จะยอมเป็นเพียงหุ้นส่วนรายย่อยในโครงการสำรวจก๊าซที่แหล่งรีดแบงค์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์

“ไม่ต้องไปสนใจคำพิพากษา” ดูเตอร์เตอ้างคำพูดของสี ขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันอังคาร (10 ก.ย.) และว่า “ละทิ้งข้ออ้างของคุณเสีย และอนุญาตให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับบริษัทของจีน พวกเขาต้องการเข้าไปสำรวจ ถ้ามีอะไรขัดข้อง เรายินดียกประโยชน์ให้ฝ่ายคุณ 60% และพวกเขาจะได้แค่ 40% นี่คือคำสัญญาจาก สี จิ้นผิง”

ในการแถลงข่าววานนี้ (11 ก.ย.) หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ไม่ได้เอ่ยถึงรายละเอียดการพูดคุยระหว่างประธานาธิบดีทั้งสอง แต่อ้างถ้อยคำของสี ซึ่งระบุว่า การร่วมมือกันจะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าในการสำรวจและนำทรัพยากรทางทะเลมาใช้ประโยชน์

หัว ระบุด้วยว่า ผู้นำฟิลิปปินส์แสดงท่าทีเต็มใจที่จะเร่งรัดโครงการสำรวจก๊าซและน้ำมันในทะเล รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาต่าง ๆ กับจีน และในส่วนของ “สถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง” บางอย่างนั้นก็จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด

ถ้ามีอะไรขัดข้อง เรายินดียกประโยชน์ให้ฝ่ายคุณ 60% และพวกเขาจะได้แค่ 40% นี่คือคำสัญญาจาก สี จิ้นผิง - โรดริโก ดูเตอร์เต

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2559 ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮกได้อ้างมาตราที่ 287 ภาคผนวกที่ 7 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (ยูเอ็นซีแอลโอเอส) ตัดสินว่า การที่จีนอ้าง “สิทธิทางประวัติศาสตร์” เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดโดยอิงกับแผนที่เส้นประ 9 เส้นนั้น “ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ” และการขัดขวางไม่ให้ฟิลิปปินส์เข้าไปแสวงหาประโยชน์จากแหล่งไฮโดรคาร์บอนและแหล่งปลาชุมที่อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์เอง ก็ถือเป็นการละเมิดอธิปไตย

ศาลยังได้วินิจฉัยคัดค้านคำกล่าวอ้างของจีน โดยระบุว่า หมู่เกาะสแปรตลีย์นั้นไม่มีพื้นที่ที่เป็น “เกาะ” ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนั้น ปักกิ่งจึงไม่มีสิทธินำไปอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ส่วนการถมทะเลสร้างเกาะเทียมนั้นก็ก่อให้เกิดความเสียหายอันไม่อาจซ่อมแซมได้กับสภาพแวดล้อมทางทะเล และยังเป็นการทำลายภูมิประเทศดั้งเดิมของพื้นที่แถบนั้น

รัฐบาลจีนยืนยันเรื่อยมาว่า “ไม่ยอมรับ ไม่มีส่วนร่วม และจะไม่ปฏิบัติตาม” คำพิพากษานี้

ดูเตอร์เต พยายามที่จะผูกมิตรกับสี และหลีกเลี่ยงการท้าทายกิจกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ โดยหวังว่าความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีนหลายพันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม หากฟิลิปปินส์ยอมตกลงเพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลกรุงเฮกและร่วมมือกับปักกิ่ง อาจจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อประเทศผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่น ๆ โดยเฉพาะเวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งเคยถูกหน่วยยามฝั่งจีนรุกล้ำเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะหลายครั้งหลายหน

ดูเตอร์เตยังไม่ประกาศชัดเจนว่าเขายอมรับข้อเสนอของสีหรือไม่ แต่บอกเพียงว่ารัฐบาลของเขาจะมองข้ามคำพิพากษาส่วนที่ว่าด้วยเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ศาลกรุงเฮกตัดสินว่า ฟิลิปปินส์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้าไปสำรวจและใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติรีดแบงค์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งฟิลิปปินส์เพียงราว 140 กิโลเมตร

10551349136231

สำหรับแหล่งก๊าซมาลัมปายา ซึ่งเป็นแหล่งเดียวที่ฟิลิปปินส์เข้าไปใช้ประโยชน์แล้วคาดว่าจะหมดลงภายในปี 2567

การสำรวจหาแหล่งพลังงานร่วมกับจีนเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในฟิลิปปินส์มานานหลายสิบปี แต่ที่ยังไม่คืบหน้าไปไหนเนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ และความร่วมมือลักษณะนี้อาจถูกมองว่าเป็นการยอมรับข้ออ้างของอีกฝ่าย หรือแม้กระทั่งขายอธิปไตยของชาติ

ทีโอโดร ล็อกซิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอเอ็นซีวานนี้ว่า ข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์จะไม่มีการระบุชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของก๊าซธรรมชาติ

“มันชัดเจนมาก และเราจะไม่ผ่อนปรนจุดยืนทางกฎหมายในการทำข้อตกลงฉบับนี้”

รัฐมนตรีรายนี้ย้ำด้วยว่า การเพิกเฉยต่อคำพิพากษาของศาลกรุงเฮกนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากศาลระหว่างประเทศได้มีคำตัดสินไปแล้ว “ซึ่งถือเป็นที่สุด และมีผลบังคับ”

ระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่งของดูเตอร์เตช่วงสิ้นเดือนที่แล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาล และคณะทำงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าที่สำคัญในการสำรวจน้ำมันและก๊าซร่วมกัน

เฮนรี ชาน นักวิจัยของสถาบันการศึกษาการพัฒนาแบบบูรณาการในกรุงมะนิลากล่าวว่า การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลกับคณะทำงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซ ถือเป็นก้าวสำคัญของจีนและฟิลิปปินส์

ส่วนสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ชานมองว่ายังคงสงบสุขและมีเสถียรภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความสมเหตุสมผลและเป็นไปได้ที่ทั้งสองประเทศจะสามารถระงับข้อพิพาทและมุ่งความสนใจไปที่การร่วมมือกัน ซึ่งจะช่วยทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคนี้มีเสถียรภาพมากขึ้น

ด้าน ลูซิโอ บลันโก พิตโล อาจารย์ด้านโครงการศึกษาจีนของมหาวิทยาลัยอาเตเนโอ เดอ มะนิลา กล่าวว่า การที่ดูเตอร์เตเดินทางเยือนจีนในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นการยืนยันถึงการที่เขาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีน

“ดูเตอร์เตมองว่า จีนเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญสำหรับฟิลิปปินส์” พิตโลระบุ และบอกว่า ความร่วมมือทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศน่าจะมีแนวโน้มมากขึ้น