เวทีจับคู่ธุรกิจ เชื่อมเอสเอ็มอี 'ไทย-อินเดีย'

เวทีจับคู่ธุรกิจ   เชื่อมเอสเอ็มอี 'ไทย-อินเดีย'

อินเดีย ประเทศที่มีทัศนคติที่ดีต่อไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้จุดประกายและกระตุ้นให้คนอินเดียนิยมเลือกซื้อหาสินค้าไทยมากขึ้น จากปากต่อปากเป็นเครื่องการันตี กรุยทางให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไทยไปบุกตลาดในดินแดนภารต

ราเกส ซิงห์ กรรมการสภาธุรกิจไทย-อินเดีย ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า อินเดียเป็นประเทศใหญ่และมีตลาดผู้บริโภคใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งยังมีอุตสาหกรรมการผลิตที่หลากหลาย ซึ่งในปี 2562 สภาฯมีแผนจะโฟกัสไปที่กลุ่มธุรกิจโรงแรม การบริการและการท่องเที่ยว และกลุ่มธุรกิจการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานทุกประเภทในอินเดีย โดยสภาฯได้นำคณะธุรกิจไทยเดินทางไปพบปะพูดคุยกับบริษัทใน 2 กลุ่มนี้ ทั้งนักธุรกิจในภาคการโรงแรม สถาปนิก และนักออกแบบชั้นนำในอินเดีย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์นำไปสู่การตัดสินใจทำธุรกิจร่วมกัน

10556712351293

การจัดเวทีจับคู่ทางธุรกิจไทย-อินเดียในวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา ทางสภาฯได้เชิญกลุ่มนักธุรกิจจากเมืองมุมไบ เหมือนกับการเยี่ยมเยือนต่อยอดจากที่ สภาฯได้นำทีมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยเดินทางลงพื้นที่ที่เมืองมุมไบในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา 

ราเกส กล่าวว่า สำหรับคณะนักธุรกิจอินเดียที่เดินทางมาไทยในครั้งนี้ มาจาก 25 บริษัท และหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น เคมี พลาสติก และโลหะ ซึ่งในการจัดเวทีจับคู่ทางธุรกิจได้เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้แนะนำบริษัทตัวเอง และพูดคุยสอบถามในประเด็นที่สนใจกันได้โดยตรง 

"เวทีจับคู่ทางธุรกิจในปีนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบไทยและอินเดียได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน แต่ยังเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนอินเดียที่ประสงค์จะเข้ามาทำธุรกิจและมองหาคู่ค้าในไทย" ราเกสระบุ

ขณะที่นักธุรกิจอินเดียหลายรายได้สอบถามมายังสภาฯ เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในไทย ในส่วนนี้สภาฯก็พร้อมจะเป็นสะพานเชื่อมนักลงทุนอินเดียกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมายังประเทศไทยอีกแรงหนึ่ง

"มีนักธุรกิจอินเดียบางรายในอุตสาหกรรมยานยนต์สนใจจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเพื่อนำไปประกอบรถยนต์ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยังมีผู้ประกอบการด้านภสัชกรรมหลายแห่งต้องการจะตั้งบริษัทในไทย เพราะเล็งเห็นว่า ภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เหมาะสมเป็นจุดกระจายสินค้าส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน" 

ขณะเดียวกัน มีผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปจากต่างประเทศแสดงความสนใจอยากจะนำเข้าสินค้าของไทย ดังนั้นจึงได้จัดพาไปดูโรงงานผลิตสินค้า เพื่อเป็นปัจจัยการตัดสินใจลงทุนในอนาคต

สภาฯ มีไอเดียจะดึงบริษัทและภาคเอกชนรายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในอินเดียอย่าง "เอสซีจี" ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงชี้แนะโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหน้าใหม่ที่ตั้งใจจะบุกตลาดอินเดีย หวังสร้างมุมมองทัศนคติการค้า จากที่รู้สึกว่ามีแต่อุปสรรคเปลี่ยนเป็นโอกาสและความท้าทาย" กรรมการสภาธุรกิจไทย-อินเดียกล่าว

ราเกส ชี้ว่า อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่จะมีโอกาสด้านการค้าสูงมาก และยังเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยอีกมาก ซึ่งการค้าระหว่างไทย-อินเดียในปีที่แล้วอยู่ที่ 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 มีอัตราเติบโตอยู่ที่ 24% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากตรงนี้บ้าง 

ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดียปี 2562 ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 7,500 ล้านดอลลาร์ และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจมาก โดยที่ภาคเอกชนไทยได้ตั้งเป้าทำการค้ากับอินเดียสูงถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563 

“แม้ว่า สถานการณ์เงินบาทอยู่ในภาวะแข็งค่า เป็นอุปสรรคส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังต่างประเทศ แต่ตลาดอินเดียก็ยังคงจะเป็นตลาดทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจให้กับผู้ประกอบการไทยได้ เพราะเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ และกลุ่มที่มีกำลังซื้อในอินเดีย หรือคนมีฐานะปานกลางจนถึงรวย มีจำนวนถึง 200-300 ล้านคน" ราเกส กล่าวย้ำ 

ราเกส กล่าวด้วยว่า ในแง่ทัศนคติคนอินเดียที่มีต่อสินค้าไทยเป็นไปในทางบวก โดยคนอินเดียมองว่า สินค้าที่ผลิตจากไทยเป็นสินค้ามีคุณภาพ และสำหรับคนอินเดียที่มีกำลังซื้อก็เป็นกลุ่มมีรสนิยมใช้สินค้ามีคุณภาพ หากผู้ประกอบการไทยใส่ใจในเรื่องกระบวนการผลิตสินค้าเน้นมาตรฐาน บรรจุภัณฑ์สวยงาม รวมทั้งโปรโมทสินค้าให้น่าสนใจ เชื่อว่ามูลค่าสินค้าที่เต็มไปด้วยคุณภาพจะสูงแค่ไหน ก็สามารถตีตลาดคนอินเดีย