เคล็ด(ไม่)ลับสะสมเงินแบบฉบับคนโสด 'ออมก่อน รวยกว่า'

เคล็ด(ไม่)ลับสะสมเงินแบบฉบับคนโสด 'ออมก่อน รวยกว่า'

เคล็ด(ไม่)ลับสะสมเงินแบบฉบับคนโสด “ออมก่อน รวยกว่า” หมดห่วงเมื่อต้องขึ้น "คาน"

คำว่า “คาน” ไม่ได้มีความหมายในทางลบ หรือน่าเจ็บปวดอีกต่อไป เมื่อสาวๆ หรือหนุ่มๆ รุ่นใหม่เลือกที่จะเป็นโสดด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพราะความจำเป็น

ข้อมูลการจดทะเบียนสมรส และจดทะเบียนหย่าของกรมการปกครอง พบว่าการจดทะเบียนสมรสลดลง 5.1% จาก 3.13 แสนในปี 2550 มาอยู่ที่ 2.98 แสนในปี 2560 สวนทางกับการจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้น 19.7% จาก 1.02 แสนในปี 2550 มาเป็น 1.22 แสนในปี 2560 ซึ่งในช่วงปี 2550-2560 ไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นราว 3 ล้านคน สะท้อนว่าสังคมคนโสดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายคนเตรียมตัวสร้างวิมานคานนิเวศไว้อย่างเต็มใจ

สลักสำคัญไม่ใช่ “โสด” หรือ “ไม่โสด” เพราะนั่นไม่ใช่ปัญหาในการใช้ชีวิตเลย ถ้ามีวางแผนชีวิตที่ดีโดยเฉพาะแผนทางการเงิน ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำทุกคนสามารถครองชีวิตสุดแฮปปี้ในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข ไม่แพ้คู่รักไหนๆ บนโลก

แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน กลับพบว่าคนไทยทั้งที่โสดและไม่โสด มีเพียง 1 ใน 4 สามารถออมได้ในระดับที่ตั้งใจไว้สำหรับการเกษียณอายุ ในขณะท่ี 34% กำลังดำเนินการตามแผนการออมที่ตัวเองวางไว้ และ 41% ยังไม่มีแผนการออมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากคนกลุ่มนี้เกษียณอายุ จะต้องพึ่งพารายได้จากผู้อื่นหรือลูกหลาน

แล้วถ้าเราไม่มีลูกหลานล่ะ ควรจะเตรียมตัวยังไง

หลายปีก่อนนักวิเคราะห์หลายสำนักออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าคนโสดต้องมีเงินอย่างต่ำ 4-10 ล้านบาท จึงจะเพียงพอสำหรับการดูแลตัวเองในยามเกษียณ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าแท้ที่จริงแล้ว “ควรมีเงินสำหรับเลี้ยงดูตัวเองตอนโสดมากแค่ไหน” แล้วปัญหาใหญ่สุดคือ “จะเก็บเงินเหล่านั้นได้ยังไง”

บันไดขั้นแรก เข้าใจตัวเอง

คำตอบของคำถามที่ว่า “ต้องมีเงินแค่ไหนถึงจะพอ” ไม่มีคำตอบตายตัว ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ และความพอใจของแต่ละคน สำหรับคนโสดที่อยากมีโหมดไปเที่ยวต่างประเทศคูลๆ ในบั้นปลาย อาจจะต้องใช้เงินมากถึง 10-20 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น สำหรับใครที่อยากมีชีวิตในต่างจังหวัดสบายๆ ชมธรรมชาติ ปลูกผัก เลี้ยงปลาอาจจะใช้เงินไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือน้อยกว่านั้น ก็เป็นไปได้

เคล็ด(ไม่)ลับสะสมเงินแบบฉบับคนโสด \'ออมก่อน รวยกว่า\'

ใครที่ยังไม่ได้คำตอบให้ตัวเอง ลองคิดด้วยวิธีง่ายๆ ว่าหลังจากเกษียณอายุอยู่คนเดียวโสดๆ “เราอยากใช้เงินเดือนละเท่าไหร่” แล้วคำนวณคร่าวๆ เช่น ตอนนี้อายุ 30 ชีวิตนี้ไม่อยากแต่งงาน ตั้งใจครองตัวเป็นโสดตลอดไป แต่อยากใช้เงินหลังเกษียณเดือนละประมาณ 15,000 บาท ตกปีละ 180,000 บาท ในอีก 25 ปีหลังจากเกษียณอายุ (เสียชีวิตตอนอายุ 85 ปี) ฉะนั้นจำเป็นต้องมีเงินก้อนประมาณ 4,500,000 บาท

ตัวเลขบานเบอะ พอหันมามองรายได้ต่อเดือนก็สะเทือนใจกว่าไม่มีแฟนซะอีก เพราะถ้าออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาจับเงินทั้งเดือนไปฝาก ยังไม่ใกล้ตัวเลขเหล่านี้เลย แถมในอนาคตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% เท่ากับว่าเงินจำนวนเท่าเดิมในตอนนี้ จะมีค่าลดลงอีกด้วย การออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ หยอดกระปุก หรือฝังดินจึงอาจไม่ใช่ทางรอดในการเตรียมเงินไว้บนคาน

ปัญหายิ่งเก็บเงินยิ่งลดลงเป็นอุปสรรคที่ทุกคนต้องเจอในอนาคต แต่อย่าเศร้าใจไป ยังอยู่หนทางหนึ่งที่ช่วยให้เงินก้อนเล็กๆ ของคุณสามารถเติบโตขึ้นชนะเงินเฟ้อในอนาคต และนำไปสู่ชีวิตบนคานนิเวศที่ใครๆ ก็ต้องอิจฉา(ถ้าทำได้)

บันไดขั้นที่สอง เข้าใจวางแผน

แต่วันนี้ เราจะพูดถึงการสร้างเงินไว้ใช้บนคานก้อนโตก้อนนั้นขึ้นมาให้ได้ตามเป้า หรือใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยวิธีที่เพิ่มโอกาสในการสะสมเงินก้อนโตไว้ใช้บนคาน ด้วยเงินก้อนเล็กๆ คือการทำ “DCA (dollar-cost averaging) ผ่านกองทุน”

การลงทุนในกองทุน คือการรวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนทั่วไป คนละเล็กคนละน้อย เพื่อรวมเป็นเงินก้อนขนาดใหญ่ แล้วนำเงินที่รวบรวมนั้นไปกระจายลงทุนตามที่ได้ตกลงเอาไว้ ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุนซึ่งมีหน้าที่ลงทุนแทนเราตามนโยบายของกองทุนที่เราเลือกตามความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถรับได้ ซึ่งกองทุนแต่ละกองจะได้ผลตอบแทนแตกต่างกันไปตามความเสี่ยง ประมาณ 3-12% ต่อปี 

ส่วน DCA (dollar-cost averaging) คือการตั้งระบบลงทุนแบบอัตโนมัติ เป็นงวดๆ งวดละเท่าๆ กัน ทุกเดือนหรือทุกไตรมาส ถ้าราคาหุ้นปรับตัวต่ำลงจะซื้อหน่วยลงทุนได้มากขึ้น และเมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจะซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยลง ซึ่งการซื้อต่อไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ จะช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนหน่วยลงทุนที่เราซื้อให้เท่าๆ กัน ทำให้ไม่ต้องมาคอยเฝ้าราคาขึ้นๆ ลงๆ ของกองทุน แถมมีผู้จัดการกองทุนช่วยบริหาร ทำให้ไม่ต้องมานั่งเฝ้าตลาดหุ้นด้วยตัวเอง

สาเหตุที่หยิบยกวิธีนี้ขึ้นมากพูด เพราะข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรากฏสถิติที่น่าสนใจว่า การลงทุนระยะยาวด้วยวิธีการแบบ DCA ให้ผลลัพธ์ดีกว่าการลงทุนแบบจับจังหวะ หรือเก็งกำไร แถมสามารถสะสมได้จากเงินจำนวนน้อยๆ ด้วย

เช่น นางสาว Bottom Line อายุ 30 ปีเพิ่งเลิกกับแฟนที่คิดว่าจะรักกันไปจนวันตายแบบฟ้าผ่า เธอใช้ความเสียใจเปลี่ยนเป็นพลังบวกเตรียมเปย์ตัวเองในบั้นปลายชีวิต โดยหักเงิน 15-20% ของเงินเดือน 30,000 บาท เป็นเงิน 4,500-5,000 บาท มาลงทุนในกองทุนทุกๆ วันที่ X ของเดือนต่อเนื่องเป็นเวลาเป็นระยะเวลา 30 ปีจนเกษียณ จะมีโอกาสได้เงินก้อนสำหรับใช้ในช่วงเกษียณ ดังตารางต่อไปนี้

1_4

สามารถทดลองคำนวณการสะสมเงินแบบ DCA ได้ที่ โปรแกรมคำนวณเงินฝากของ ศคง. 

สาเหตุที่วิธีสะสมเงินแบบ “DCA ในกองทุน” เติบโตขึ้นจนไปถึงเป้าหมายได้ คือพลังแฝงที่เรียกว่า “ดอกเบี้ยทบต้น” ที่จะทำให้ดอกเบี้ยในแต่ละปีในระยะยาว รวมกับเงินต้นที่มีอยู่เดิมกลายเป็นเงินต้นก้อนใหม่ และเมื่อเวลาผ่านไป เงินต้นก้อนใหม่จะถูกพอกด้วยดอกเบี้ยที่ได้รับของปีถัดไปเรื่อยๆ ทำให้ผลลัพธ์ในตอนท้ายกลายเป็นก้อนใหญ่หลักหลายล้านได้

ทว่า กฎเหล็กของการเก็บเงินแบบ DCA คือ “วินัย” ที่ต้องลงทุนสม่ำเสมอ และ “ความอดทน” ที่จะต้องทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลาร่วม 10 ปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคโหดหินที่ทำให้หลายคนที่แม้จะคำนวณเก่ง วางแผนดี แต่พอถึงเวลาลงมือทำ ก็ถอนตัวตั้งแต่ยังไม่พ้นปีแรก

สังเกตได้ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนเท่ากัน ยิ่งมีจำนวนปีในการลงทุนนาน การลงทุนที่ใช้ระยะยาวนานกว่าจะให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่ามาก ซึ่งเป็นข้อยืนยันประโยคที่ว่า “ออมก่อน รวยกว่า”

ความเป็นจริงแล้ว วิธีการลงทุนสม่ำเสมอแบบนี้สามารถทำได้ทุกคน ทั้งรู้ตัวว่าจะโสด หรือเพิ่งโสด หรือแม้แต่คนไม่โสด แต่จงเตรียมตัวเป็นโสดอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มีคู่ เราก็มี “เงิน” ซัพพอร์ตชีวิตเราอยู่แบบไม่ลำบาก แต่ถ้าพรหมลิขิตเหวี่ยงคู่มาให้เราก็ถือว่าเงินส่วนนี้เป็นส่วนตัวเผื่อฉุกเฉินแบบสบายๆ ได้เลย

ข้อดีของการลงทุนในกองทุนแบบ DCA

  • ช่วยตัดอารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจลงทุนออกไป
  • ลดความเครียด
  • ไม่จำเป็นต้องมีเงินก้อนใหญ่
  • ทำให้มีวินัยในการลงทุน ไม่หลงไปกับความผันผวนของตลาดในระยะสั้น ๆ

ข้อด้อยของการลงทุนในกองทุนแบบ DCA

  • มีความเสี่ยงตามประเภทของกองทุน
  • ใช้ระยะเวลาการลงทุนยาว 

บันไดขั้นที่สาม เข้าใจบริหารเงิน

นอกจากจับหลักในการเก็บเงินก้อนใหญ่ด้วยการลงทุนแบบ DCA แล้ว ยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ควรทำควบคู่กันให้เป็นนิสัย ที่ช่วยส่งเสริมให้สามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

“ทำรายรับ-รายจ่าย” ยังคงเป็นวิธีการบริหารเงินสุดคลาสสิกที่ได้ผล และมีประโยชน์มากว่าเราเสียเงินไปกับอะไรบ้าง หลายคนจินตนาการการทำรายรับ รายจ่าย ต้องตีตารางใส่สมุดหรือนั่งจดให้เสียเวลา แต่ความเป็นจริงสามารถทำง่ายๆ จดในโทรศัพท์มือถือ หรือทำผ่านแอปพลิเคชันทำรายรับรายจ่ายที่ให้บริการได้ เช่น Money Lover: Expense Tracker, Weple Money เป็นต้น

“ไม่สร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น” การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการหนี้ และการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกันได้ความพินาศจะมาเยือน พยายามควบคุมไม่ให้มีหนี้เกิน 20-30% ของเงินเดือน และหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็น อย่างหนี้อุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว เพราะหากยังมีหนี้หลังเกษียณ คุณอาจจะต้องทำงานเพื่อหาเงินใช้หนี้ไปตลอดชีวิต สวนทางกับสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ ก็เป็นได้

“ฟุ่มเฟือยได้แต่อยู่ในกรอบ” คนโสดหลายคนเลือกที่จะใช้เงินปรนเปรอความสุขของตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน แต่หลายคนพังเพราะใช้เงินแบบพอดีตัว เดือนชนเดือนจนไม่เหลือเผื่อตัวเองในอนาคต ทางที่ดีที่สุดคือ การสร้างกรอบในการฟุ่มเฟือยให้กับตัวเองแบบพอเหมาะเช่น หักออกมาใช้ส่วนนี้ไม่เกิน 10% ของเงินเดือน เพื่อควบคุมการใช้เงินตัวเองแบบหลวมๆ ช่วยให้บริหารจัดการการออมได้ง่ายขึ้น

“ใส่ใจสุขภาพ” มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอซื้อสุขภาพที่ดีกลับมา เรื่องสุขภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องโฟกัส และเจียดเงินมาดูแลสุขภาพควบคู่ไปกับการสร้างคานทองที่แข็งแรง หมั่นดูแลสุขภาพ บริหารจัดการเวลาในการทำงานมาดูแลตัวเองเพื่อให้สุขภาพทางการเงิน และสุขภาพทางกายแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน

ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจครองโสดไปตลอดชีวิต ไม่เจอคนที่ถูกใจสักที หรือเข็ดกับรักห่วยก็ตามที วิธีการสะสมเงินแบบนี้ก็ใช้ได้ทั้งนั้น เพราะวิธีการทั้งหมดทั้งมวลนี้คือการวางแผนเกษียณที่ไม่ว่าใครๆ ก็ “ควรทำ” ก่อนที่มันจะสายเกินไป...

ที่สำคัญที่สุดก่อนที่ตัดสินใจลงทุน อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนที่จะลงทุน เพราะไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุน หุ้น หรือความรัก ก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น

“ความเสี่ยง” ที่ใหญ่หลวงที่สุดคือ “การไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย” mark zuckerberg

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โสด หรือ ไม่โสด ไม่สำคัญเท่ากับ สุข หรือ ไม่สุข การสะสมเงินแบบ DCA อย่างสม่ำเสมอในระยะยาวเป็นอีกหนึ่งหนทางในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีในวัยเกษียณที่ไม่จำเป็นต้องง้อใคร นอกจากวินัย และความอดทน