70 ปี สัมพันธ์ไทย-เมียนมา
หนังสือเล่มนี้ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และบันทึกพิธีการทูตเอาไว้ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนคนรุ่นหลังของ 2 ประเทศได้ใช้ศึกษาและค้นคว้าสัมพันธ์ไทย-เมียนมาครอบคลุมทุกด้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
กระทรวงการต่างประเทศ เปิดตัวหนังสือ “2491 งานฉลองเอกราชพม่า: ปฐมบทการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา”เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศโดยได้จัดทีมศึกษารวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และถ่ายทอดเรียบเรียงแบบเจียระไนถึงเส้นทางสันถวไมตรีในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า นับตั้งแต่ไทย - เมียนมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตบนพื้นฐานของความมุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีทุกระดับ ซึ่งปัจจุบันความสัมพันธ์มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้นมาก หวังเดินหน้าผลักดันความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศทุกมิติ
ในการจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-พม่า ครั้งที่ 9 ได้ประกาศยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partnership) บนพื้นฐานที่มีพรมแดนทางธรรมชาติที่มีระยะทางยาวต่อกันมากถึง 2,401 กม. และผลประโยชน์ร่วมกันทุกด้าน
“สำหรับการจัดทำหนังสือ 2491 งานฉลองเอกราชพม่า: ปฐมบทการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-พม่า เพื่อเป็นหนึ่งสัญลักษณ์การเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี และการยกระดับประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์โดยมีเตช บุนนาคผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้คำปรึกษาและแนะนำข้อมูลปฐมภูมิที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์การทูตของไทย - เมียนมา” รมว.ต่างประเทศ ระบุ
ดอน ยังกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการที่พระยาภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) ซึ่งเป็นปู่ของรัฐมนตรีเตช ได้นำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปร่วมวันประกาศอิสรภาพและเอกราชของเมียนมาอย่างเป็นทางการจากอังกฤษเจ้าอาณานิคม ในวันที่ 4 ม.ค. 2491 ตามคำเชิญของรัฐบาลเมียนมา สะท้อนถึงความมีมิตรจิตมิตรใจที่ผู้นำะมียนมามีต่อไทยในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิด นำมาสู่การแลกเปลี่ยนความสัมพันธไมตรีการทูตระหว่างกัน ในวันที่ 24 ส.ค. ปีเดียวกัน
หนังสือเล่มนี้ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และบันทึกพิธีการทูตเอาไว้ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนคนรุ่นหลังของ 2 ประเทศได้ใช้ศึกษาและค้นคว้าสัมพันธ์ไทย-เมียนมาครอบคลุมทุกด้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ด้านเตช กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการจัดทำหนังสือทรงคุณค่านี้ว่า เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขณะที่ ยาใจ บุนนาค บุตรสาวปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่การทูตของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ซึ่งกำลังเตรียมการจัดฉลองความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ทำให้ได้กลับมาคิดว่า ในสมัยนั้น รัฐบาลของควง อภัยวงศ์ได้แต่งตั้งพระยาภิบาลราชไมตรีที่ขณะนั้นเป็นข้าราชการเกษียณ มีตำแหน่งสุดท้ายคือเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนพิเศษไปร่วมงานฉลองเอกราชเมียนมา และเขียนกลับมารายงานรัฐบาล จึงเชื่อว่า ข้อมูลจารึกทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ สามารถนำมาบอกเล่าให้คนในปัจจุบันได้ทราบถึงบรรยากาศและเรื่องราวกว่าไทย-เมียนมาจะสถาปนาสัมพันธ์ทางการทูตได้
“หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และยังสอดแทรกให้เห็นวิธีการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศในอดีตเช่นการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษการส่งโทรเลขเข้า-ออกประเทศขั้นตอนรายงานสถานการณ์กลับมายังรัฐบาลที่มีเกร็ดรายละเอียดน่าสนใจและระเบียบสารบัญในระบบราชการยุคก่อน แตกต่างจากรายงานโทรเลขของเอกอัครราชทูตไทยสมัยนี้ ที่ไม่ค่อยมีรายละเอียดและความคิดเห็นแบบส่วนตัวมากๆ” เตช ระบุ
นอกจากนี้ เนื้อหาในหนังสือเล่มดังกล่าว ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น กว่าจะเป็นเมียนมาสมัยใหม่ สะท้อนให้เห็นภาพความเจริญรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของเมียนมาในอดีต
ขณะที่ลลิตา หาญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงเมียนมาได้รับเอกราช เมียนมาเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเป็นที่รู้จักของโลกในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยนักวิชาการอังกฤษท่านหนึ่งได้เปรียบเทียบความสำคัญเมืองท่าของย่างกุ้ง ไม่ต่างจากนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ เพราะในแง่ของยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของเมียนมาไม่เป็นสองรองใครในสมัยนั้น
ลลิตา กล่าวในตอนท้ายว่า หากแต่หลังจากที่เมียนมาได้รับเอกราชผ่านไปไม่กี่สิบปี กลับต้องเผชิญกลับปัญหาการเมืองในประเทศที่ซับซ้อน แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีต เมื่อกางแผนที่แล้วจะเห็นว่า กรุงย่างกุ้งเป็นเมืองท่าที่มีบทบาทสำคัญเท่ากับปีนัง สิงคโปร์ และเมืองท่าสำคัญๆอีกหลายแห่งในเอเชีย จึงเชื่อว่า เมียนมามีแนวโน้มที่จะกลับไปผงาดและมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเฉกเช่นในอดีตได้ในเร็วนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นำทัพอาหารไทย กว่า80 กิจการ ลงนามความร่วมมือกับประเทศพม่า
-'เมียนมา'ดึงทุนต่างชาติพัฒนา 'ย่างกุ้งสมาร์ทซิตี้'
-ไทยส่งกลับ'ผู้หนีภัยสู้รบเมียนมา'รอบใหม่
-เกาหลีใต้ชูนโยบายปั้น 'ไทย' ฐานผลิตรถไฟฟ้า