ร้องสธ.ออกใบรับรองแพทย์'พิการ'ตลอดชีวิต
คนพิการยื่นหนังสือถึงรมช.สธ.จี้ปรับเกณฑ์การวินิจฉัยความพิการ พิจารณาออกใบรับรองแพทย์แบบตลอดชีวิต ชี้ผู้ต้องเดินทางขอรับตลอดสร้างความยากลำบาก ทั้งที่เห็นชัดมีความพิการรักษาไม่หาย สธ.เร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำข้อมูลผู้พิการเป็นฐานเดียว
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายไพฑูรย์ วชิรวงศ์ภิญโญ ผู้สมัครส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำผู้พิการจำนวนหนึ่งมายื่นหนังสือถึงนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) ประเด็นมาตรฐานทางการแพทย์สำหรับผู้พิการ โดยมีนายเรวัติ อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรมช.สธ. เป็นผู้รับมอบหนังสือ
โดยนายไพฑูรย์ กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนถึงความเดือดร้อนของผู้พิการเข้ามาจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล เรื่องยาที่มีมาตรฐานไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการวินิจฉัยความพิการของหน่วยงานต่างๆ แตกต่างกัน จึงได้รวมกันมายื่นหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้มีการพิจารณาออกใบรับรองแพทย์ให้กับผู้พิการเป็นแบบตลอดชีวิต เพราะการที่ให้ผู้พิการต้องเดินทางมาขอรับใบรับรองตลอดนั้นสร้างความยากลำบาก ทั้งๆ ที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่ามีความพิการรักษาไม่หาย
รวมทั้งขอให้ปรับเกณฑ์การวินิจฉัยและรับรองความพิการ เพราะปัจจุบันสธ.มองอย่างหนึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มองอีกอย่าง หน่วยงานอื่นๆ ก็มองอีกอย่างหนึ่ง เช่น กรณีตาบอดหนึ่งข้าง บางหน่วยงานบอกว่าเป็นความพิการ แต่บางหน่วยงานบอกว่ายังสามารถดำรงชีพได้ กลายเป็นว่าสถานะก้ำกึ่ง ซึ่งในทางปฏิบัติเกิดปัญหา ทำให้ไม่ได้รับสิทธิในการดูแลผู้พิการ ขณะที่สถานประกอบการไม่รับคนเหล่านี้เข้าทำงานเพราะมองว่าเป็นคนพิการ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าผู้พิการไม่สามารถทำประกันชีวิต ประกันภัยต่างๆ ได้ เพราะนักคณิตศาสตร์ประกันภัยไปมองว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาก็เกิดปัญหา เช่น เวลาเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางคนที่ไม่พิการสามารถทำประกันภัยได้ก็ได้รับการดูแล แต่ผู้พิการบาดเจ็บ เสียชีวิตไม่มีประกันเหล่านี้คอยดูแล
“ตอนนี้ผู้พิการในประเทศไทยมีเป็นล้านคน และเท่าที่มีการรวบรวมข้อมูล มีหลายแสนคนที่ได้รับความเดือนร้อน จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งจากนี้จะไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ พม.เช่นเดียวกัน หลังจากก่อนหน้านี้ไปยื่นมาเกี่ยวกับโครงการจ้างงานผู้พิการที่พบว่ามีการหักหัวคิว โกงเงินผู้พิการ” นายไพฑูรย์ กล่าว
ด้านนายเรวัติ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ขอรับและขอเวลา 1 เดือนในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยอยู่แล้ว ส่วนเรื่องสำคัญคือต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำฐานข้อมูลผู้พิการเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อลดการซ้ำซ้อน และลดความยุ่งยากของผู้พิการ รวมถึงเรื่องปัญหาการทำประกันภัยของผู้พิการก็ต้องมีการคิดต่อเช่นเดียวกัน