สาธิตจุฬาฯประถมปรับหลักสูตร เปลี่ยนวิธีสอนเน้นให้รู้จักศักยภาพของตนเอง

สาธิตจุฬาฯประถมปรับหลักสูตร  เปลี่ยนวิธีสอนเน้นให้รู้จักศักยภาพของตนเอง

โรงเรียนสาธิตจุฬาฯครบรอบ6ปีปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ เน้นการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้จักตัวเอง เพื่อวางแผนในอนาคต จัดการศึกษาแบบตามอัธยาศัยมากขึ้น ได้เรียนรู้ตามความต้องการและสอดคล้องกับทักษะที่มีโดยเปิดให้นับหน่วยกิตจากการเรียนรู้ได้

'ผศ.ทินกร บัวพูล' ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯฝ่ายประถม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่าขณะนี้มีแนวคิดที่จะปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่เนื่องจากครบรอบ 6 ปีที่ต้องมีการปรับ โดยจะเน้นการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้จักตัวเองว่าต้องการเรียนเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายในการเรียนอย่างไร โตขึ้นอยากเป็นอะไร เป็นการเรียนเพื่อเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองให้มากที่สุด เพื่อที่วางแผนชีวิตในอนาคต 

‘ในอนาคตอาจจะมีจัดการศึกษาแบบตามอัธยาศัยมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความต้องการและสอดคล้องกับทักษะที่พวกเขามีโดยเปิดให้สามารถนับหน่วยกิตจากการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ไปเรียนตามสถาบันต่างๆของเอกชนที่มีความชำนาญเฉพาะทางที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการศึกษาให้ได้ โดยเอาเครดิตที่ได้มาเทียบเคียงเป็นผลการเรียนบันทึกไว้ในแบบแสดงผลการเรียน หรือพอร์ตโฟลิโอ นำไปยื่นประกอบการสมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งถือเป็นการจัดการศึกษาเพื่อโลกอนาคตผู้อำนวยการสาธิตจุฬาฯ กล่าว

10658366252525

นอกจากนี้ยังจะปรับบทบาทครูผู้สอนใหม่ จากเดิมที่ยืนสอนหน้าชั้นเรียนอาจจะมาอยู่ด้านข้าง อยู่หลังห้องเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน  หรือ ดึงเครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษา และจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น เพราะบางครั้งโรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามความต้องการของนักเรียนทุกอย่างได้

ส่วนการเรียน'โค้ดดิ้ง' ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อให้เด็กเตรียมตัวสู่การเขียนโปรแกรม และสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้นั้น ก็เป็นการสอนทักษะที่ช่วยให้เด็กคิดทุกเรื่องอย่างเป็นเหตุผล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทักษะการแก้ปัญหา คือสามารถแยกแยะปัญหาออกเป็นส่วนๆ เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหาในแต่ละส่วนได้ เด็กจะได้เรียนรู้ระบบการวางแผนจะทำให้เข้าใจหลักการและจับประเด็นได้ดีขึ้น

ซึ่งเป็นวิธีการสอนแบบ unplugged coding ที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อให้นักเรียนแก้โจทย์ให้เหมาะสมกับวัย ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 เริ่มสอนวิชา“วิทยาการคำนวณ”ป.1 และ ป.4  โดยสอนแบบอันปลั้ก ไม่ได้บอกเด็กว่าเป็นวิชาโค้ดดิ้ง หรือ อัลกอริทึ่ม แต่สอดแทรกทักษะการลำดับกระบวนการ ทักษะการคิดเชิงนามธรรม ต่างๆให้นักเรียน จนกลายเป็นความเข้าใจเรื่องราวเป็นขั้นเป็นตอนไปโดยอัตโนมัติ

10658366347513

ขณะนี้กำลังสอนชั้น ป.2 และ ป.5 คาดว่า ปี 2563 จะสอนครบทุกช่วงชั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งเนื้อหาเน้นวิธีคิดเป็นหลักพอถึงชั้น ม.ต้น จะเริ่มมีการสอนโค้ดดิ้ง ว่ากันว่าโรงเรียน ครูจะเป็นผู้เลือกสื่อการเรียนการสอนโดยการใช้ social platforms การใช้หุ่นยนต์ผึ้ง หรือ Bee-Bots หรือการสอนด้วย Code.org หรือการใช้โปรแกรม Scratch เป็นต้น เพื่อนำหลักสูตรที่ส่วนกลางกำหนด ไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามเป้าหมาย

10658366125704

ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้นำร่องสู่ห้องเรียน 3,000 แห่ง ทั่วประเทศเริ่มภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ด้วยการให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)อบรมพัฒนาทักษะครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขับเคลื่อนการเรียนสู่โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลจำนวน 8,224 แห่ง 

‘พรรณงาม ใจรักษ์ศักดิ์’ สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ และ ‘ผศ.เพียงตา กิจหิรัญวงค์’ กลุ่มสาระการงานอาชีพและวิชาวิทยาการคำนวณ  ช่วยกันอธิบายว่าโรงเรียนสาธิตจุฬาฯสอนโค้ดดิ้ง เแบบ Unplugged (วิทยาการคอมพิวเตอร์แบบอันปลั๊ก) มาตั้งแต่เริ่มทดลองนำร่องเมื่อปี 2559 เป็นการสอนแบบเน้นไปที่การฝึกตรรกะ และวิธีคิดตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เน้นการคิดเชิงคำนวณ การเข้าใจไม่เน้นท่องจำแต่เน้นคิดและสังเคราะห์คำตอบ

การเรียน จะเน้นกิจกรรมที่สนุกสนาน และมีประเด็นและปัญหาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดและสังเคราะห์คำตอบด้วยตัวเองจากการใช้เหตุและผล เด็ก ๆ จะเห็นว่าการแก้ปัญหาสามารถทำได้หลากหลายวิธี และวิธีที่ตัวเองคิดไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร รวมทั้งการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลก็เช่นกัน ก็จะเกิดจากการวิเคราะห์ตัวอย่างปัญหาและนำไปสู่ข้อสรุปด้วยตัวเองโดยมีครูคอยแนะนำ

10658366852249

'ผศ.เพียงตา' บอกว่าจากการเรียนพบว่านักเรียนนั้นเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล รู้จักวางแผน เข้าใจในหลักการและจับประเด็นได้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาอุปสรรคบ้าง เช่น นักเรียนบางคนขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา ซึ่งแก้ไขโดยให้นักเรียนฝึกทำซ้ำๆ จัดกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น และ อธิบายความรู้เพิ่มเติม เป็นต้น

      ‘การสอนโค้ดดิ้งต้องอบรมครูให้เข้าใจหลักการก่อน จากนั้นค่อยไปสอนนักเรียนให้เข้าใจได้ การอบรมต้องทำเป็นขั้นตอน มีการทดลองสอน มีการประเมินผลว่าตรงตามที่ต้องการหรือไม่ จากนั้นไปทดลองสอนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชำนาญ และปรับปรุงการสอนไปจนกว่าจะได้ผลที่น่าพอใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ในเร็ววันต้องผ่านขบวนการทดลองสอนและฝึกฝนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เชื่อว่าการเรียนวิชาโค้ดดิ่งจะช่วยให้เด็กไทยมีทักษะการคิดเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอนและอยู่รอดได้ในโลกอนาคต’ผศ.เพียงตา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทักษะส่วนหนึ่งของวิชานี้ ทั้งในส่วนของทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และ ICT ก็เป็นทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยตรง และในส่วนของ Computational Thinking ที่มีเรื่องของโค้ดดิ้งด้วย ถึงแม้เด็กจะไม่ได้เอาไปใช้โดยตรง แต่ทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา และทักษะการคิดเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในเนื้อหาด้านนี้ก็มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันเขาได้ในอนาคต

10658366918074

10658366952121

10658366969197

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมสั่งปิด 3 วัน ไข้หวัดระบาด

-Smart School ไอเดียเด็กประถมสาธิตจุฬาฯ

-สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมสั่งปิด2วันไข้หวัดใหญ่ระบาด

-ทึ่ง! เด็กป.5 สาธิตจุฬาฯ คว้าทองสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ