โรดแมพแก้รัฐธรรมนูญ ดันฉันทามติ...รื้อ“ปฏิรูปประเทศ”
* หมายเหตุ : ตัวแทน 7 พรรคฝ่ายค้านเดินสายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางและประเด็นในการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ
ความพยายามในการปลดล็อคทางการเมืองของฝ่ายค้าน ที่วางโรดแมพแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 แม้จะรู้ว่า เป็นเส้นทางความหวังที่ยากแสนสาหัส แต่ก็ต้องเดินหน้า
โดยเฉพาะ ด่านสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบของ “250 ส.ว.” ซึ่งแทบฝ่าไปไม่ได้ หากไม่ได้สัญญาณไฟเขียวจากอดีตหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม
เมื่อทุกหนทางถูกล็อคเอาไว้ ทางออกเดียวของ “7 พรรคฝ่ายค้าน” จึงต้องหาแนวร่วม ด้วยการรณรงค์สร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดฉันทามติ และกลายเป็นกระแสกดดันไปยังผู้กุมอำนาจการเมืองในเวลานี้
โดยฝ่ายค้าน พยายามอธิบายหลักการและเหตุผลในการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เน้นประเด็นปัญหา ที่ยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก และจะไม่มุ่งแก้เพื่อนักการเมืองเท่านั้น
“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อธิบายหลักการและที่มาที่ไปว่า ปัญหาหลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือที่มาของอำนาจ การให้อำนาจ ไปอยู่ในกลุ่มบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ
"ผมขอยกตัวอย่าง การที่รัฐบาลมีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีปัญหาในการบริหาร หรือควบคุมพรรคร่วมรัฐบาล ต้องเอาใจ ให้เก้าอี้และผลประโยชน์ นี่คือผลพวงของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความจงใจของคนเขียนรัฐธรรมนูญ ที่ไม่อยากให้มีพรรคการเมืองใหญ่ ไม่อยากให้มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง"
“รัฐบาลที่มีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก ย่อมไม่มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจทางการเมือง เพื่อวางแนวนโยบาย การจะผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งจะต้องใช้ความร่วมมือของแต่ละกระทรวง จึงทำได้ยาก นี่คืออุปสรรคของการพัฒนาประเทศ และพรรคการเมืองทุกพรรคก็เห็น จึงไม่แปลกใจที่ ส.ส.เห็นพ้องกัน ให้เลื่อนการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณาในวาระแรกของสมัยประชุมสภาฯ ครั้งหน้า”
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บอกอีกว่า เราพยายามรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะประเทศไทยมีปัญหาเยอะแยะ และเชื่อว่าปัญหาการเมืองก็สำคัญไม่แพ้กัน เราคิดว่าการรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้กติกาเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และมีความสำคัญ เราจะเดินหน้าทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับจุดร่วมของ ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีประเด็นใดเห็นพ้องต้องกัน ที่จะผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปได้นั้น "ธนาธร" บอกว่า ผมเชื่อว่าจุดร่วมของฝ่ายค้าน รัฐธรรมนูญหมวด 1 ว่าด้วยโครงสร้างของรัฐ และหมวด 2 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ เราไม่ยุ่ง นี่คือข้อตกลงร่วมกัน และเราไม่เสนอว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเนื้อหาอะไรบ้าง แต่เราเสนอกระบวนการที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเราเห็นว่ากระบวนการที่ดีที่สุดคือการมี ส.ส.ร.(สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นสภาฯ ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อภารกิจเฉพาะกิจ ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ
"ส่วนจุดร่วมของฝ่ายรัฐบาล ผมอยากให้สื่อมวลชนช่วยกันตรวจสอบ เพราะเราไม่รู้ว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เขาต้องการเห็นอะไร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เขาต้องการอะไร พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เขาต้องการอะไร ส่วนพวกเราชัดเจนว่า ต้องการให้มี ส.ส.ร. มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรค่อยไปตะลุมบอนกัน หลังมี ส.ส.ร.แล้ว"
“ผมเข้าใจว่า การกระโดดเข้าร่วมในกระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะกลัวตกขบวน เนื่องจากประชาชนหลายส่วน ต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะเข้ามาร่วมของฝ่ายรัฐบาล เรายังไม่ได้คุยกันว่า ใครคิดอะไรอยู่ มีความเป็นไปได้ว่า พวกเขาอยากจะแก้บางมาตรา เช่นหมวดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ที่ยุ่งยากและซับซ้อน หรือมาตราที่เกี่ยวกับการรายงานการทำงานของรัฐบาลต่อสภาปฏิรูป ที่ต้องทำทุก 3 เดือน ทำให้เขาอยากแก้บางมาตรา วันนี้ทุกคนเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา แต่ใครอยากจะแก้ตรงไหนบ้าง พรรคฝ่ายค้านยังมองไม่เห็นจุดร่วมกับฝ่ายรัฐบาล”
สำหรับการจัดหมวดหมู่ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตอบว่า "ผมคิดว่าประชาชนมองเห็นอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของ ส.ว. กติกาการเลือกตั้ง การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น จากการลงพื้นที่ของเรา ผมคิดว่าหากให้ลงรายละเอียดรายมาตรา ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง ผมคิดว่าประชาชนไม่รู้ เขาไม่เข้าใจ"
“แต่ถามโดยภาพรวมว่า รัฐธรรมนูญมีความเป็นธรรมหรือไม่ ผมคิดว่าประชาชนตอบได้ เขาเข้าใจว่า กฎหมายไม่เป็นธรรม กฎหมายเอื้อให้คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจมากกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าเราถามแบบนี้ ประชาชนเข้าใจ แต่ถ้าถามว่า รัฐธรรมนูญมาตราไหนมีปัญหา เขาตอบไม่ได้ แต่เขารู้ว่าเขาไม่พอใจ ส.ว. รู้ว่าเขาไม่พอใจ กกต.”
ส่วนขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขายอมรับว่า "ขณะนี้ต่อให้ฝ่ายค้านมี 300-400 เสียง ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ จะแก้ไขได้ก็มีวิธีทางเดียว คือต้องทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระหลักของสังคม ทำให้เกิดการกดดัน ส.ว. เหมือนครั้งหนึ่งภาคประชาสังคมเคยทำได้มาแล้วในปี 2540 ถ้าย้อนกลับไปอ่านคำให้สัมภาษณ์ ผู้พิพากษาในขณะนั้นก็ไม่อยากเปลี่ยน นักการเมืองก็ไม่อยากรับรัฐธรรมนูญ 2540 แต่คนที่กดดันคือภาคประชาสังคม"
“ผมคิดว่า ไม่ช้าก็เร็วสังคมมันไปถึงจุดนั้นเอง จุดที่คนคิดว่า กฎหมายแบบนี้มันไปไม่ไหวแล้ว มันพัง ผมคิดว่ามันก็เหมือนสายน้ำ ที่เราต้องปล่อยให้ไหลไปจุดนั้นเอง แล้วความโกรธของผู้คน ความคับแค้นของผู้คน ความเดือดร้อนของผู้คน มันระเบิดออกมา ทำให้เกิดการปะทะกัน ทำให้เกิดความรุนแรง ถ้าเราปล่อยไปมันจะเกิดแบบนั้น”
"เราต้องย้อนถามว่า ทำไมประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้ ซึ่งเราทุกคนมีส่วน ทั้งนักการเมือง กองทัพ ตำรวจ องค์กรตุลาการ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม เป็นต้น ทุกคนมีส่วนทำให้สังคมเดินมาถึงทุกวันนี้ ถ้าเราปล่อยให้เดินไปอย่างนี้ต่อไป มันจะนำไปสู่การปะทะกัน เราไม่ได้ขอให้ทุกคนเห็นตรงกัน เพราะมันเป็นไปไม่ได้"
“แต่สิ่งที่เราควรเรียกร้องร่วมกันคือ การมีกติกา 1 อัน ที่เราบอกว่า คุณกับผมเห็นต่างกัน เรามาแย่งชิงอำนาจด้วยกัน แต่แพ้เราก็อยู่ในกติกา ชนะเราก็อยู่ในกติกา ขอให้มีกติการ่วมกันที่ทำให้เราอยู่ด้วยกัน ถ้าถามว่าแก้อย่างไร เราต้องรณรงค์ร่วมกัน ถ้าคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะนำไปสู่ความรุนแรง นำไปสู่การปะทะกัน ผมคิดว่าการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงในอนาคต”
สำหรับความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน "ธนาธร" มองว่า "ในบางแง่อาจจะมีเยอะกว่าช่วงรณรงค์รัฐธรรมนูญ 2540 เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะยากหรือง่าย ถ้าไม่ลงมือทำ มันไม่เกิด รอให้กระแสมันขึ้นมาเอง มันไม่เกิด ไม่มีทาง"
“พวกเราเห็นตรงกันว่า กระบวนการนี้ทำในสภาไม่ได้ จะทำได้ต้องมีความตื่นรู้จากประชาชนมากพอที่จะกดดัน ส.ว. ดังนั้นต้องลองทำดู ถ้าคิดว่ายาก แล้วไม่เริ่มทำ มันไม่มีทางเกิดขึ้น ขอลองเราทำดู และหากองค์กรอื่นอยากขึ้นมาถือธงนำ เราสนับสนุน เราคอยอยู่ข้างหลัง”
"ธนาธร" ได้ขยายความรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ถูกตั้งคำถามว่ามีตรงไหน “เฮง” ตรงไหน “ซวย” บ้างว่า "ถ้าไล่ทีละมาตรามันพูดได้หมด ไม่ว่าจะเป็นกติกาการเลือกตั้ง อำนาจของ ส.ว. องค์กรอิสระไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่ใจความหลักคือ การเอาอำนาจที่มาจากประชาชนไปไว้กับคนกลุ่มเดียว ประชาชนไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง ทั้งที่รัฐธรรมนูญคือการแบ่งอำนาจ ว่าใครมีอำนาจ แล้วเราจะตรวจสอบผู้ใช้อำนาจอย่างไร รัฐธรรมนูญจะออกแบบว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจแค่ไหน ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจแค่ไหน ฝ่ายตุลาการมีอำนาจแค่ไหน"
“สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2560 ฝ่ายบริหารถูกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกำกับดูแล ทั้งที่ไม่ได้มาจากประชาชน ถ้าเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากประชาชนทำผิดยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีอำนาจส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ล้มรัฐบาลได้ มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่เหนืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง”
นอกจากนี้ เรายังมี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง และต่อให้หมดบทเฉพาะกาล ส.ว.ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีก ซึ่งเราต่อสู้มานานแค่ไหน เพื่อหนีพ้นประชาธิปไตยครึ่งใบ เพื่อให้ ส.ว. ได้มาจากการเลือกตั้ง วันนี้เรากลับไปสู่จุดเดิม ส.ว.ยังมาจากการแต่งตั้ง
สำหรับฝ่ายตุลาการมีองค์กรอิสระ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายประเทศได้ แต่ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน
"ดังนั้นกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกออกแบบมาอย่างเอาใจใส่ ออกแบบมาอย่างดี โดยให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แฝงตัวอยู่ในดุลอำนาจทั้ง 3 ดุลอำนาจ ทำให้อำนาจของประชาชนไม่สามารถที่จะบริหารหรือสะท้อนเจตจำนงออกมาได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน สามารถครอบงำอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งได้"
“เวลาผมไปเดินรณรงค์ผมมีเวลา 20 วินาที ในการอธิบาย ผมมักจะพูดว่า ประเทศจะดีได้ สังคมจะดีได้ เศรษฐกิจจะดีได้ กฎหมายสูงสุด มันต้องเป็นธรรม ขณะเดียวกันฝั่งรัฐบาลอาจจะอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่บางมาตรา ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้เป็นปัญหา ถ้าจะแก้มาตรา 256 ก่อน แค่มาตราเดียว ผมก็เอา ถ้าจะมาตรา 269 มาตรา 272 ด้วยผมก็เอา ถ้าจะกติกาการเลือกตั้งอย่างเดียวก่อน ผมคิดว่าเราก็คุยกันได้"
“ในภาวะแบบนี้ เรารณรงค์ความเชื่อของเราอย่างต่อเนื่อง และเราเชื่อว่าข้อเสนอของเราจะได้รับการยอมรับมากพอ เพื่อกดดันรัฐบาลยอมรับข้อเสนอของเรา แต่ข้อเสนอของเราจะทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติได้มากที่สุด ถ้าแก้รายมาตรา ผมว่าแก้กัน 10 ปีกว่าจะเสร็จ”
สำหรับโมเดล ส.ส.ร.จะเป็นอย่างไร "ธนาธร" บอกว่า เรายังคุยกันได้ และควรคุยในชั้นกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้น แต่หลักการของ ส.ส.ร.ต้องยึดโยงกับประชาชน จะจำนวนเท่าไร มาจากไหน เรายังไม่ได้คิด เราคิดเพียงว่าขอให้ ส.ส.ร. มาจากประชาชนเท่านั้นพอ
ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อธิบายว่า เราอยากให้ระดมความเห็นร่วมกันว่า วันนี้เราต้องการปฏิรูปการเมืองจริงๆ หรือไม่ เพราะตั้งแต่มีรัฐประหาร เราได้เห็นการปฏิรูปการเมืองใดหรือไม่ที่จะทำให้การเมืองดีขึ้น แต่การเมืองหลังรัฐประหารกลับเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ จึงต้องมาดูบริบทภาพรวมของทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ว่าเราจะปฏิรูปอย่างแท้จริงกันหรือไม่
“จะเห็นว่า ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถทำตามรัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาได้ จึงมีการใช้มาตรา 44 งดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญหลายครั้งมาก และมีอีกหลายอย่างที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้เป็น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ จึงสามารถกระทำได้ แต่หากคนอื่นเป็นนายกฯ อาจจะติดคุกตั้งแต่ 2 เดือนแรกแล้ว”
อีกทั้งการที่รัฐบาลกระทำผิดรัฐธรรมนูญตลอดเวลา ผลเสียจึงเกิดขึ้นกับประเทศ นักลงทุนไม่เกิดความมั่นใจในตัวกฎหมายหลักของประเทศ สร้างความไม่น่าเชื่อถือ จากผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็ไม่น่าเชื่อถืออยู่แล้ว แต่การที่รัฐบาลไม่สามารถเดินตามรัฐธรรมนูญตัวเองได้ยิ่งไม่น่าเชื่อถือ ด้วยกติกาแบบนี้ ทำให้คนไม่เข้ามาลงทุน ขณะเดียวกัน คนไทยวิ่งไปลงทุนต่างประเทศ เพราะเขามั่นใจในกฎหมาย
“ขณะนี้นักลงทุนเลือกไปลงทุนที่ประเทศเวียดนาม ถามว่ารัฐธรรมนูญเวียดนามดีกว่ารัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ ก็ไม่ดีกว่า แต่เขาเชื่อว่ามีความมั่นคง และรัฐบาลสามารถดูแลการลงทุนได้ แต่รัฐธรรมนูญไทยเขียนให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มากำกับการทำงานของรัฐบาล นักลงทุนจึงไม่รู้ว่า ใครใหญ่กว่ากันแน่ มันทำงานสับสนกันหมด เราไปคุยกับหอการค้าต่างประเทศ เขาก็บอกว่า กติกาเราไม่ชัด เราจึงต้องหาทางปฏิรูปการเมืองให้ได้”
คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังให้อำนาจองค์กรอิสระใช้ดุลยพินิจ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง มันต้องกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสินที่ตายตัว ไม่ใช่พวกฉันไม่ผิด พวกเธอผิด เขาตั้งใจออกแบบแบบนี้ เพราะเขาคิดว่าฝั่งพรรคเพื่อไทยเข้ามาทำงาน จะได้ทำงานยาก แต่ตอนหลังเขาเปลี่ยนใจ แต่กลับไปแก้ไขไม่ทันแล้ว ปรากฎการณ์ที่เห็นคือ รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้ ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นคนแต่งตั้งองค์กรอิสระ ก็อยู่กันได้โดยไม่มีความผิด
"เราเลือกที่จะเอาปัญหามากาง แล้วมุ่งปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะพูดคุยวงไหน ก็จะบอกเหมือนกันว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้หรอก ต้องตีกัน ซึ่งเราไม่อยากให้ตีกัน การเปิดวงที่จะชวนปฏิรูปการเมือง เพื่อขจัดอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ มันน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมาร่วมกัน ยืนยันว่า เราจะทำให้ไม่เกิดการตีกัน การเดินตามแนวทางขณะนี้ เราคิดว่าดีที่สุด แม้จะไม่สะใจแฟนคลับที่เลือดร้อนหน่อย"
“เวลาพูดก็มีคนมาถามว่า จะจบอย่างไร เขาก็บอกว่า มันต้องนองเลือด แต่เรามีประสบการณ์อยู่แล้ว เราจะเดินในทางนั้นต่อไปหรือ เราไม่ควรเดินทางนั้น เราก็เปิดกรอบมาพูดเรื่องการปฏิรูปการเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านเรามีอุดมการณ์ร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีคุณภาพที่ดี ซึ่งต้องยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกบทเฉพาะกาลเขียนเพื่อให้สืบทอดอำนาจ เราจึงอยากผลักดันให้กำหนดกติกาของประเทศกันใหม่ ทำให้ประชาชนรักและหวงแหนกติกาที่เขากำหนดร่วมกัน
เราเสนอให้ ส.ส.ร.เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ แต่เราไม่อยากให้ ส.ส.ร.เป็นผู้มีอิทธิพล หรือไม่ใช่ตัวแทน มันคงต้องมีระบบ แต่เราจะไม่กำหนดระบบ ขอให้มี ส.ส.ร.มาก่อน แล้วเขาจะไปคุยกันเอง วันนี้เราแค่คิดว่า ควรมาทำกติการ่วมกัน อยากให้ทุกคนในภาคส่วน เข้าใจร่วมกัน ไม่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง
“หากเราสามารถจัดตั้ง ส.ส.ร.ได้ วันนั้นประชาชนอาจจะเห็นนักการเมืองทะเลาะกัน เขาก็อาจจะเขียนให้ปฏิรูปนักการเมืองเลยก็ได้ ซึ่งเราไม่มีปัญหา เพราะเราให้ประชาชนทำ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง”
เลขาธิการพรรคประชาชาติ ชี้ถึงปัญหาในตัวรัฐธรรมนูญหลายอย่าง "เราเห็นว่า หากยึดตามตัวอักษร รัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญอยู่หลายนโยบาย โดยเฉพาะประเด็นการช่วยเหลือสินค้าทางการเกษตร รัฐธรรมนูญเขียนระบุว่า การช่วยเหลือเกษตรกร ต้องช่วยเหลือให้แข่งขันในทางตลาด ต้องจัดหาตลาด และขายได้ในราคาสูงสุด ต้องไม่ขาดทุน หากยึดตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปประกันราคาได้ แต่เราไม่อยากแตะ เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ แต่คิดว่ารัฐธรรมนูญลักษณะแบบนี้ ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารประเทศ"
กดดัน “รัฐบาล-250ส.ว.”
เมื่อ “7 พรรคฝ่ายค้าน” เลือกเดินสายพบปะทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จึงจำเป็นต้องเข้าพบปะ “ขั้วรัฐบาล” ด้วย ซึ่ง “ธนาธร” ตอบทันทีว่ายินดี
“เราตั้งเป้าจะเดินไปพบกับพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงเดือน ต.ค. ความจริงผมก็อยากพบกับรัฐบาล พร้อมเลยนะ ผมยกเลิกงานทุกอย่างได้เลย ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยอมพบผม”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า 7 พรรคฝ่ายค้าน ไม่ควรเป็นเจ้าของการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมันทำไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองไม่มีพลังพอ ถ้าเราเอาแคมเปญนี้มาเป็นเจ้าของ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เกิดขึ้น
“เราอยากจะเห็นองค์กรท้องถิ่น ผู้นำชุมชน นักวิชาการ นักกฎหมาย องค์กรพัฒนาสังคม สื่อมวลชน เป็นต้น ช่วยลุกขึ้นเป็นเจ้าของการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน เราอยากให้ธงนำมาจากภาคส่วนอื่น”
ขณะที่ “คุณหญิงสุดารัตน์” กล่าวว่า เราพยายามทำข้างนอกด้วย เราต้องการคุยกับองค์กรต่างๆ เราต้องใช้ความอดทนในการพูดคุย เราอยากใช้ระบบในการแก้ให้มากที่สุด วันนี้เราไม่ต้องการให้มีความแตกแยกในแผ่นดิน แล้วเป็นเหยื่อให้คนที่ไม่แฮปปี้กับคนที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราพยายามทำให้มันเดินตามกระบวนการให้ได้ แม้จะต้องใช้เวลาในการเดินกับทุกภาคส่วน ซึ่งทุกภาคส่วนเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ เรากำลังจะแสวงหาความร่วมกับพรรคการเมือง และ ส.ว. เราคิดว่าเขากินเงินเดือนประชาชน เขามีลูกมีหลาน เขาจะให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้หรือ ก็คิดว่าจะพยายามคุย ขณะนี้คุยภาคประชาสังคม นักวิชาการ อาชีพต่างๆ สื่อ และได้คุยกับพรรคการเมืองอย่างไม่เป็นทางการแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งมีภาพความสำเร็จระดับแรก เพราะพรรคการเมืองเห็นพ้องกับเราในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จากนี้ไปเราคงต้องเดินคุยอย่างเป็นทางการกับทุกพรรคการเมือง เพื่อหาแนวร่วม ความเข้าใจที่ดีต่อกัน เพื่อให้ทุกคนเข้ามาเป็นเจ้าภาพ การปฏิรูปประเทศครั้งนี้อยากให้เป็นครั้งสุดท้าย และทำเพื่อลูก เพื่อหลาน การเดินครั้งนี้เราต้องคุย จะคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องคุย โดยไม่แบ่งฝักฝ่าย เราไม่อยากให้บ้านเมืองแตกแยก
วันนี้เราไม่ได้เดินเพื่อสร้างกระแส เราเดินเพื่อสร้างความเข้าใจ ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจแฟนคลับ เราจะเดินหาทุกกลุ่ม เดินทางอย่างหนัก เพื่อให้เปิดเวทีปฏิรูปการเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เราต้องการใช้ระบบในการแก้ไขปัญหา จะมาบอกว่ามันต้องนองเลือด เราไม่เห็นด้วย
“ฝ่ายรัฐบาลอาจจะเห็นพ้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้แก้ 7 มาตรา ซึ่งทั้ง 7 มาตรา มันเป็นปัญหาของคุณ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ คุณจะเป็นแค่ผู้นำประเทศ หรือคุณอยากเป็นวีรบุรุษของประเทศ เราจะพยายามเดินทีละขั้น ทำความเข้าใจกับทุกคน ตอนนี้ถือว่ามีความร่วมมือกันแล้ว จากนี้มาคุยกันด้วยเหตุผล ให้มันจบ”