แนะหั่นโควตา 'โรงไฟฟ้าชุมชน' ให้เอกชน ลงทุน 70% ชุมชน 30%
“เอกชน” แนะหั่นโควตา “โรงไฟฟ้าชุมชน” ให้เอกชน ลงทุน 70% ชุมชน 30% ห้ามรัฐวิสาหกิจและบริษัทลูกร่วมโครงการ หวั่นทำกระบวนการดำเนินงานล่าช้า
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานที่ปรึกษาสมาคมการค้าพลังงานขยะ กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ส่งผลการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่จัดทำโดยภาคเอกชน ยื่นเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว โดยเบื้องต้นเป็นแนวทางเดียวกับที่สมาคมการค้าพลังงานขยะให้ความเห็นไว้ คือ ควรให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนโรงไฟฟ้า สัดส่วน 70% และชุมชน สัดส่วน 30% ซึ่งไม่ควรให้ภาครัฐเข้ามาลงทุน ทั้งรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกระบวนการทำงานระบบของรัฐจะล่าช้าโดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงิน และอาจกระทบต่อความตั้งใจผลิตไฟฟ้าได้ แต่หากเป็นเอกชนดำเนินการจะมั่นใจได้ถึงความต้องการผลิตไฟฟ้าที่แน่นอนกว่า
ส่วนชุมชนที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทางภาครัฐควรเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งอาจเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ หรือองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ที่ต้องเป็นนิติบุคคล โดยรัฐต้องพิจารณาในรูปแบบเหมือนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ เลือกชุมชนหรือบุคคลที่มีรายได้น้อยก่อน จากนั้นให้ชุมชนดังกล่าวเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกเอกชนที่เสนอตัวเข้ามาสร้างโรงไฟฟ้าและให้ส่วนแบ่งรายได้แก่ชุมชน 30% ซึ่งเอกชนควรมองโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแบบเป็นโครงการช่วยเหลือสังคม(CSR) ไม่ควรมองเป็นการแสวงหากำไรจากชุมชน
สำหรับการผลิตไฟฟ้านั้น ควรเป็นระบบผสมผสาน(Hybrid )ทั้งเชื้อเพลิง และเทคโนโลยี เช่น เชื้อเพลิงแก๊สชีวภาพที่ชุมชนมีอยู่รวมกับเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งแก๊สชีวภาพใช้ระบบผลิตแบบหมัก ก็อาจรวมกับระบบเผาไหม้ของชีวภาพได้ เป็นต้น
“คาดว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพทำโรงไฟฟ้าชุมชนได้จริงเพียงจังหวัดละ 2 แห่ง ซึ่งแต่ละพื้นที่ยังมีปัญหาความพร้อมและเชื้อเพลิง ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าน่าจะไม่เกิน 3 เมกะวัตต์”