1 ต.ค. ผู้ป่วยบัตรทองรับยาร้านยาวันแรกรพ.เข้าร่วม 35 แห่ง
1 ต.ค. ดีเดย์ผู้ป่วยบัตรทองรับยาร้านยาวันแรก รมว.สธ.ยันไม่เอื้อร้านเชนใหญ่ เปิดกว้างร้านยาไม่มีเหลื่อมล้ำ ยอมรับเป้าเพื่อเกิดธุรกิจแบ่งปัน เงินหมุนเวียน- ประชาชนสะดวก ขณะที่รพ.เข้าร่วม 35 แห่งยังไม่ถึงเป้า ระบุปี 63 ต้องถึง 50 รพ. ร้านยา 500 แห่ง
วันนี้ ( 1 ต.ค.)ที่ร้านยา save drug MEMBER OF BDMS ภายในห้างบิ๊กซี แจ้งวัฒนะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยา เพื่อลดแออัดของรพ.รัฐ ซึ่งเริ่มโครงการวันที่ 1 ต.ค.2562 เป็นวันแรก
นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.และสปสช.มีความพร้อมแล้วทั้งในส่วนโรงพยาบาลและร้านยา เพื่อเป็นทางเลือกในการรับยาหลังพบแพทย์ให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองที่สมัครใจ ไม่ต้องรอคิวรับยา โดยแพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการคงที่สามารถร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาได้
โดยร้านยาที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นร้านยาแผนปัจจุบัน ข.ย.1 ที่มีเภสัชกรประจำร้าน ซึ่งจะมีป้ายสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ที่หน้าร้าน ขณะนี้มีโรงพยาบาลในต่างจังหวัดและกทม.ที่ขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบอย่างเป็นทางการแล้ว 35 แห่ง และร้านยากว่า 300 แห่ง จะดำเนินการให้ครบ 50 โรงพยาบาล 500 ร้านยา ในปีงบประมาณ 2563
ในช่วงเริ่มต้นโครงการจะดูแลผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และโรคทางจิตเวช รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นที่ไม่ซับซ้อน ยาที่ผู้ป่วยจะได้รับจากร้านยาในระยะแรกจะเป็นยาที่จัดส่งมาจากโรงพยาบาล เป็นยารายการเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย
สิ่งสำคัญของโครงการนี้คือการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยในการส่งข้อมูล โดยโรงพยาบาลจะจัดส่งเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นของผู้ป่วยให้กับร้านยาเพื่อให้จ่ายยาและให้คำแนะนำกับผู้ป่วยได้ และจะมีการประเมินสุขภาพและความพึงพอใจหลังดำเนินโครงการเพื่อปรับปรุงด้านบริการของโรงพยาบาล เช่น มีเวลาดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซับซ้อนมากขึ้น การควบคุมคุณภาพยาในหอผู้ป่วย เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับร้านยาที่เป็นธุรกิจร้านยารายใหญ่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า นโยบายนี้ร้านยาเป้าหมายต้องเท่าเทียม ไม่มีเหลื่อมล้ำ ยิ่งร้านยาเล็กที่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติของสปสช.ที่จะเข้าร่วมได้ ต้องไปส่งเสริมให้ร้านยาเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนร่วมโครงการกับสปสช.ให้มากที่สุด
“ยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับร้านยาขนาดใหญ่แน่นอน แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกิดความสะดวกกับประชาชน ลดความเครียดของแพทย์และบุคลากรในรพ. ขณะเดียวกันก็เอื้อร้านขายยาให้มีช่องทางในการเพิ่มรายได้ วินๆทุกฝ่าย ซึ่งนโยบายนี้จะแบ่งเป็นระยะๆหรือเฟส ตอนนี้อยู่เฟส1 เป็นการทดลองระบบให้ประชาชนเกิดความคุ้นชิน ด้วยการที่รพ.จัดยามาให้ร้านยา แต่เฟส3จะไปสู่เป้าหมายประชาชนถือใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยาได้เลย เป็นการกระจายรายได้เป็นลักษณะของแชร์ริ่ง อีโคโนมี หรือ ธุรกิจแบ่งปัน ” นายอนุทินกล่าว
ด้าน นางสุวลี ศรีประเสริฐ ผู้ป่วย กล่าวว่า เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รับยาก็ไม่ต่ำกว่า 3-4 ตัว โดยรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ราชวิถี แต่บ้านอยู่ที่ย่านมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ การเดินทางไปรพ.ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ถ้าไป รพ.ช้า พบแพทย์ช้า ยิ่งรอคิวนาน ที่ห้องจ่ายยา ดังนั้นการมารับยาที่ร้านขายยาในห้างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะจึงถือว่าสะดวก และส่วนตัวยังคงรู้สึกมั่นใจถึงบริการทางการแพทย์ เพราะไป รพ.ก็ได้ตรวจ เจาะเลือด และพบแพทย์ ได้รับยาก็ตัวเดิม เพียงแต่เปลี่ยนมาที่ร้านขายยา
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับ 35 โรงพยาบาลสังกัดสธ.ที่จะเข้าร่วมนำร่องในโครงการนี้แล้ว ประกอบด้วย ภาคเหนือ 1.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 2.รพ.นครพิงค์ 3.รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ 4.รพ.ลำพูน 5.รพ.เพชรบูรณ์ ภาคตะวันตก 6. รพ.ราชบุรี ภาคตะวันออก 7.รพ.ชลบุรี 8.รพ.ระยอง จ.ระยอง 9.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี ภาคใต้ 10.รพ.สงขลานครินทร์ 11.รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 12.รพ.สุราษฎร์ธานี 13.รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช 14.รพ.วชิระภูเก็ต 15.รพ.ตรัง
ภาคกลาง 16.รพ.เลิดสิน 17.รพ.ราชวิถี 18.รพ.นพรัตนราชธานี กทม. 19.รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จ.สมุทรสงคราม 20.รพ.พระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก 21.รพ.สระบุรี 22.รพ.พระพุทธบาท 23.รพ.บ้านหมอ 24.รพ.เสาไห้ จ.สระบุรี 25.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 26.รพ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 27.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ 28.รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 29.รพ.อุดรธานี 30.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ 31.รพ.มหาราชนครราชสีมา 32.รพ.ขอนแก่น 33.รพ.ร้อยเอ็ด 34.รพ.สุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 35.รพ.มหาสารคาม
สำหรับ ร้าน save drug สาขาบิ๊กซี แจ้งวัฒนะ เป็นเครือข่ายรับยาของรพ.ราชวิถีสำหรับผู้ป่วย 4 โรคในเขตหลักสี่ จำนวน 3,000 คน จากทั้งหมด 10,000 คน ยังมีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ในพื้นที่ กทม. ที่เข้าร่วมโครงการอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตราชธานี ส่วนโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครที่ร่วมโครงการ จะเริ่มดำเนินการประมาณเดือนมกราคม 2563