พบพะยูนตัวที่ 21 ติดอวนลอยตายกลางทะเลคุระบุรี
พบพะยูนตายตัวล่าสุดที่จ.พังงา นับเป็นตัวที่ 21 ในปีนี้ กลายเป็นสถิติที่สูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาที่เคยมีการจดบันทึก ดร.ธรณ์ระบุ การทำประมงยังเป็นสาเหตุหลักของการตายของพะยูน และต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสำนักงาน ทช.ที่ 6 (ภูเก็ต) ร่วมกับ ศูนย์กู้ภัยทางทะเล อบต.คุระบุรี ได้ รับแจ้งจากกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) ก่อนเข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณแหลมไม้ตาย อ.คุระบุรี จ.พังงา จึงพบซากพะยูน ลอยในทะเล ซึ่งผลการตรวจสอบเป็นซากพะยูน เพศเมีย ขนาดความยาวประมาณ 1.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 70 กก. สภาพเริ่มเน่าเปื่อย มีบาดแผลบริเวณปาก และช่องท้อง คณะเจ้าหน้าที่จึงเก็บข้อมูลและเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.คุระบุรี จ.พังงา และประสานศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบน เพื่อนำไปผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตายของพะยูนต่อไป
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศทางทะเล ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า พะยูนที่ตายล่าสุด นับเป็นตัวที่ 21 ในปีนี้ ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ดร.ธรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงสถานที่พบพะยูนที่คุระบุรีว่า แม้จะการตายล้าสุดของพะยูนตะเกิดขึ้นในจุดที่ไม่ค่อยปรากฎเป็นข่าวอย่างในทะเลตรังและกระบี่ แต่ที่นี่ก็เป็นหนึ่งในแหล่งหญ้าทะเล 12 แห่งที่เป็นแหล่งอาศัยของพะยูน และทะเลชายฝั่งคุระบุรีถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดในพังงา ซึ่งได้บรรจุให้เป็น 1 ใน 12 เขตที่อยู่ในแผนอนุรักษ์พะยูนแล้ว
"อย่างไรก็ตาม สาเหตุการตายเป็นที่สังเกตว่า พะยูนน่าจะติดอวนดักปลา พะยูนเป็นสัตว์หายใจด้วยปอด เมื่อติดอวนก็จมน้ำตาย" ดร.ธรณ์ระบุ
ดร.ธรณ์กล่าวว่า 90% ของพะยูนที่ตายจากผลของมนุษย์ เป็นปัญหาจากเครื่องมือประมง การทำประมงทับซ้อนในพื้นที่หากินพะยูน จำเป็นต้องวางแผนในการแก้ไขอย่างรอบคอบ มิใช่ออกกฎเกณฑ์ที่ปฏิบัติตามไม่ได้
ดร.ธรณ์ยังกล่าวอีกว่า แผนอนุรักษ์พะยูนที่คณะกรรมการสัตว์ทะเลหายากได้เสนอผ่านคณะกรรมการทะเลแห่งชาติ และรอเสนอครม. จะเน้นเรื่องการหาทางอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับพะยูน โดยตั้งเป้า 12 พื้นที่ รวมทั้งตรงนี้ด้วย
"ผมพูดคุยกับพี่น้องแถวนั้น เขาก็อยากให้เกิดการอนุรักษ์อย่างจริงจังสักที โดยอาจนำตัวอย่างจากตรังมาประยุกต์ใช้ ให้ชาวบ้านอยู่ได้ พะยูนอยู่ได้ มิใช่อนุรักษ์อย่างเดียวจนชาวบ้านไม่รักพะยูน ถึงตอนนี้ คงไม่มีอะไรจะเสนอแนะอีกแล้ว ยกเว้นภาวนาให้ 21 พะยูนในปีนี้ไปสู่สวรรค์ และอย่าให้มีตัวที่ 22 เลย" ดร. ธรณ์กล่าว
ในข่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติได้ประชุมครั้งที่ 2 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ซึ่งในที่ประชุม ได้มีการพิจารณาแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ โดยวางเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูนจาก 250 ตัว เป็น 280 ตัว ในเวลา 3 ปี
ตามแผนฯ จะมีโครงการต่าง ๆ จำนวน 7 โครงการให้หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง นำแผนไปดำเนินการต่อไป รวมทั้งแผนการดูแลพื้นที่อาศัยพะยูน 12 แห่งแบบองค์รวม รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อทดแทนการลดการรบกวนพะยูนจากการทำประมง, แผนศูนย์ช่วยชีวิตหลัก 2 แห่ง และรอง 5 แห่ง, แผนการสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์หายากและศูนย์เรียนรู้ฯ และการรณรงค์การอนุรักษ์พะยูนและการประกาศวันพะยูนแห่งชาติ
ที่ประชุมได้รับรายงานว่า ในปีนี้ พบพะยูนเกยตื้นรวม 18 ตัว โดยพบเป็นซากเกยตื้น 16 ตัว และพบการเกยตื้นแบบมีชีวิต 2 ตัว คือ “มาเรียม” และ “ยามีล” ก่อนที่จะตายลงทั้งคู่จากการเจ็บป่วย
หลังการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แผนอนุรักษ์พะยูนฯ จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
ในวันเดียวกัน ทาง ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตะวันออก ได้รับแจ้งว่า พบซากวาฬเกยติ้นบริเวณชายหาดสวนสน ใกล้ศาลาลุงพล ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง
จากการตรวจสอบเป็นซากวาฬเพชฌฆาตดำ (False Killer Whale: Pseudorca crassidens) เพศเมีย ขนาดความยาว 3.29 เมตร อยู่ในช่วงอายุวัยรุ่น สภาพซากเน่ามาก คาดว่าตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 วัน เมื่อดูภายนอกพบส่วนของผิวหนังชั้นนอกหลุดลอกไปเกือบหมดแล้ว ลำไส้บางส่วนทะลักออกจากทวาร ผิวหนังมีลักษณะบวมจากการเน่า พบรอยกดทับเป็นเส้นคล้ายเชือกบนผิวหนัง 3 รอย พบซากปลาคาอยู่บริเวณปาก แต่ไม่ได้มีการอุดตันทางเดินหายใจ
เมื่อผ่าชันสูตรพบกล้ามเนื้อส่วนใหญ่เริ่มเน่าแล้ว ส่วนของกล้ามเนื้อบริเวณกรามด้านขวามีลักษณะช้ำเป็นวุ้น ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทก พบเลือดออกบริเวณหลอดลมและหลอดลมฝอยในปอดซ้าย คาดว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของซาก พบก้อนเนื้องอกเป็นหูดในหลอดอาหารบริเวณคอหอย เมื่อเปิดผ่ากระเพาะอาหารพบอาหารจำพวกหมึกและก้างปลา ไม่พบสิ่งแปลกปลอมในทางเดินอาหาร ตับเริ่มมีการเปลี่ยนสภาพและพบก้อนเนื้อบนตับ
จากผลการชันสูตรคาดว่า วาฬน่าจะไล่ตามปลาจนมาติดเครื่องมือประมงไม่ทราบชนิด แล้วจมน้ำตายในที่สุด จากนั้นได้เก็บตัวอย่างผิวหนัง เพื่อส่งตรวจ DNA เก็บฟัน ตัวอย่างไต และตัวอย่างก้อนเนื้องอก เพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อไป
เครดิตภาพ: เฟซบุ๊ค ดร. ธรณ์