"100 ซีอีโอ" ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โต้คลื่น "ดิจิทัล ดิสรัปชั่น"
100 ซีอีโอ เร่งพลิกเกมโต้คลื่นดิจิทัลกระทบธุรกิจ ผ่านหลักสูตร “Digital Transformation for CEO” รุ่นแรก ระดมกูรู ถ่ายทอดกลยุทธ์ ความรู้ กรณีศึกษา สร้างภูมิต้านทานธุรกิจ
เปิดตัวไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา สำหรับหลักสูตร “Digital Transformation for CEO” รุ่นแรก อย่างเป็นทางการ โดยหลักสูตรดังกล่าวเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) เพื่อต้องการกระตุ้นให้ “ซีอีโอ”ในองค์กรธุรกิจน้อยใหญ่ในไทย ตระหนักถึงผลกระทบของคลื่นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Digital Disruption) ต่อภาคธุรกิจ รวมถึงโต้คลื่น(Transform) การเปลี่ยนแปลงนี้ สู่การสร้างโอกาสหรือการเติบโตทางธุรกิจรอบใหม่อย่างมี “กลยุทธ์”
ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว ได้เชิญบรรดาซีอีโอองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมาก ร่วมเป็นวิทยากร ถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ให้กับซีอีโอที่เข้าร่วมหลักสูตร รุ่น1 จำนวน 110 คนให้นำไปต่อยอดความคิดเพื่อสร้าง “ภูมิต้านทาน” ธุรกิจให้แข็งแกร่ง
นายอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ หนึ่งในวิทยากรหลักสูตรดังกล่าว กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันที่มีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยผลกระทบจากดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่ถาโถมเข้ามา แม้องค์กรเก่าแก่อายุ 112 ปีอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) ก็ยังไม่สามารถวางใจว่าตัวเองจะอยู่รอดโดยไม่ถูกดิสรัป หากไม่ปรับตัว เนื่องจากคู่แข่งไม่ใช่คนกลุ่มเดิมหรือคนในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกต่อไปแล้ว แต่อาจเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจใหม่ ที่มีอายุแค่ไม่กี่ปีอย่างเฟซบุ๊ค กูเกิล เป็นต้น
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทรานส์ฟอร์ม เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อรับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อทุกอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะธนาคารเท่านั้น เพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน
- เร่งองค์กรปรับตัวก่อนสาย
"โลกของธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เพียงแค่ชั่วข้ามคืนธุรกิจชั้นนำอาจจะถูกคู่แข่งหน้าใหม่ ก้าวขึ้นมาแทนที่ได้โดยที่ไม่ได้ทันตั้งตัว ถ้าไม่ปรับตัวล้มหายตายจากเหมือนกับหลายบริษัท หลายแบรนด์ อาทิ โกดัก Blockbuster อดีตร้านเช่าภาพยนตร์ ฯลฯ ในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้น องค์กรตายได้ง่ายขึ้น"
นายอรพงศ์ ยังได้ยกตัวอย่างเทคโนโลยีการเงินที่หลายประเทศนำมาใช้แล้ว โดยเฉพาะในจีน ที่ปัจจุบันมูลค่าของบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารแต่เข้ามาทำธุรกิจที่คล้ายธนาคารและมีมูลค่าธุรกิจสูงกว่าธนาคาร เนื่องจากความเสี่ยงในอนาคตที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการแข่งขันแค่คู่แข่ง แต่เป็นการวิ่งตามเทคโนโลยีให้ทัน หากวิ่งไม่ทันความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น
- ผนึก "พันธมิตร" ดันรายได้ใหม่
เขายังแนะนำว่า หากองค์กรไม่มีความชำนาญเทคโนโลยีควรใช้วิธีหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยในการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างช่องทางในการหารายได้ใหม่เข้ามาในองค์กร รวมทั้งโอกาสธุรกิจใหม่ๆ จากกลุ่มลูกค้าเก่าและใหม่มากขึ้น เพราะรายได้จากธุรกิจหลักได้กำไรน้อยลง ขณะที่การแข่งขันสูง
จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งจึงพยายามก้าวสู่การเป็น “ธนาคารดิจิทัล” โดยทุ่มงบนับหมื่นล้านบาท เร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมารองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีการเข้าสนามทดสอบผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งเรื่องของระบบชำระเงิน การปล่อยกู้ผ่านแอพพลิเคชั่น และการโอนเงินผ่านบล็อกเชน ที่รวดเร็วและค่าธรรมเนียมถูกมาก เป็นต้น
“การปรับตัวดังกล่าวถือว่าเป็นไฟท์บังคับที่ธนาคารพาณิชญ์ต้องทำ เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียม รายได้ดอกเบี้ยหลายแสนล้านบาทที่เคยได้รับในแต่ละปีกำลังจะหดหายไปเรื่อยๆจากการเข้ามาของเทคโนโลยี จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับทุกธนาคาร ที่ต้องหาทางรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลเพื่อความอยู่รอด”
- "เอสซีบี" ชี้คู่แข่งใหม่ไม่ใช่แบงก์
ทั้งนี้อนาคตมีคู่แข่งใหม่ไม่ใช่ธนาคารเข้ามา ยกตัวอย่างกรณี เทนเซ็นต์ ที่เปิดตัว WeChat รุกคืบเปิดบริการการเงินดิจิทัล ภายใต้ We Bank ซึ่งเป็น Pure Digital Bank โดยการปล่อยสินเชื่อบุคคลไม่มีหลักประกัน แต่มีอัตราความเสียหาย (Loan Loss) ตํ่ากว่า 1% เมื่อเทียบกับธนาคารที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตํ่ากว่า 6% เนื่องจากมีข้อมูลลูกค้ารายบุคคลที่มากกว่าธนาคาร ทำให้สามารถตัดสินใจในการปล่อยสินเชื่อได้ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีในการตรวจเช็คลูกค้าโดยใช้เอไอ ในการจับใบหน้าระหว่างการคุยโทรศัพท์ก่อนอนุมัติสินเชื่อ
หรือในกรณีอาลีบาบา ที่มีบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) คือ อาลีเพย์ วันนี้ปริมาณธุรกรรมและเม็ดเงินสูงกว่าธนาคารในจีน ลูกค้ายังสามารถนำเงินใส่ไว้ใน E-Wallet ซื้อกองทุนเป็น Money Market หรือฝากเงินไว้ก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านธนาคารอีกต่อไป เป็นต้น
ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงพยายามพัฒนาแพลตฟอร์ม ในการให้บริการลูกค้าเพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจและลดต้นเวลาลงเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ไว้ โดยไม่จำเป็นต้องค่าบริการแข่งกับคู่แข่ง
“ปัจจุบันแม้ว่าความเสี่ยงในการทำธุรกิจผ่านเทคโนโลยีมีเพิ่มขึ้น แต่เราต้องปรับตัว ถ้ามัวแต่กลัวความเสี่ยงแล้วไม่ลงมือทำอะไรอาจจะไม่มีบริษัทให้เสี่ยงหรือตายไปในที่สุด”
- ไมโครซอฟท์ "ทรานส์ฟอร์ม" รอด
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวทางการ ทรานส์ฟอร์มองค์กรของไมโครซอฟท์ ว่า หลังจากผู้ก่อตั้งอย่างบิล เกตส์ ประสบความสำเร็จในการไปถึงเป้าหมาย คือ มีคอมพิวเตอร์บนทุกโต๊ะทำงานและในทุกบ้านลัง
ในช่วง สตีฟ บัลเมอร์ ซีอีโอคนที่ 2 เกิดความเปลี่ยนจากการเข้ามาของมือถือ แม้ว่าจะมีความพยายามในการปรับตัวด้วยการซื้อโนเกียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะ ปรับตัว "ช้า" ไป เนื่องจากการเข้ามาของไอโฟน และแอนดรอยด์
แต่หลังจากที่ สัตยา นาเดลลา ขึ้นมาเป็นซีอีโอได้ประกาศจุดยืนใหม่ด้วยการโฟกัสไปที่ธุรกิจ Cloud โดยไม่ได้กล่าวถึงระบบปฏิบัติการ Windows ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทและขายโนเกียไป
- องค์กรต้อง "โอเพ่นแพลตฟอร์ม"
ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับธุรกิจ Cloud มากขึ้น จาก Azure และ Office 365 ซึ่งเป็นโมเดลสมัครสมาชิก (Subscription) และเรื่องนี้กลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ พร้อมกับขยายธุรกิจแบบข้ามแพลตฟอร์ม และร่วมมือกับบริษัทอื่น เช่น วอลมาร์ท BMW ในรูปแบบของโอเพ่นแพลตฟอร์มมากขึ้น โดยในปี 2015 เขาได้นำ iPhone ขึ้นไปสาธิตการใช้แอพพลิเคชัน Office บนเวทีซึ่ง Apple ก็ถือเป็นหนึ่งในคู่แข่งของไมโครซอฟท์
นี่ถือเป็นการปรับตัวให้ปรับกับการเปลี่ยนแปลงและก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมส่งผลให้รายได้เติบโตขึ้น
“ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นองค์กรเก่าหรือใหม่ สามารถนำดาต้าในองค์กรเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามช่วยสร้างมูลค่าแก่สินค้าและบริการที่มีอยู่ ยกตัวอย่างการพัฒนาแชทบอท "น้องฟ้า" ให้กับบมจ.การบินไทย ในการบริการลูกค้าแม้ในระยะแรกไม่สำเร็จ แต่ได้ข้อมูลมาพัฒนาจนสามารถให้บริการแก่ลูกค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
- ผนึก "ดีป้า" ทำ "เอไอแลป"
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ ได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) เพื่อร่วมกันทำ “เอไอ แลป” สำหรับเกษตรกรในประเทศไทย ในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการเกษตรในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของไมโคซอฟท์อินเดีย อยู่ระหว่างการดำเนินการในรายละเอียด นอกจากนี้ยังมีแผนจะลงนามเอ็มโอยูหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล โดยจะไม่จำกัดเพียงแค่เด็กเยาวชน แต่พยายามทำให้ครอบคลุมคนหลากหลายอาชีพ ผลักดันให้คนไทยมีทักษะความรู้ความเชี่ยวชายด้านโค้ดดิ้ง หรือ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงวิทยาศาสตร์ข้อมูล โดยผ่าน 20 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยนำร่อง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนทักษะไอที
- พลิกคัลเจอร์สู่“เรียนรู้จากทุกอย่าง”
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังกล่าวว่า จากปรัชญา Growth Mindset ได้ทำให้วัฒนธรรมของไมโครซอฟท์ เปลี่ยนจาก know-it-alls หรือ “รู้ทุกสิ่ง” ไปสู่วัฒนธรรมใหม่คือ learn-it-alls หรือ “เรียนรู้จากทุกอย่าง” ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบของการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ทำให้บริษัทลงทุนในการเทรนนิ่งให้กับพนักงานและลูกค้าทั้งในรูปแบบของรีสกิลและอัพสกิลทักษะเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อรองรับกระแส Digital Disruption ในองค์กรทุก ๆ อุตสาหกรรมต้องปรับทักษะ ความรู้ความสามารถของพนักงาน ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลัก และเป็นตัวตัดสินชี้ชะตาถึงความอยู่รอดขององค์กร จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรอาจมองข้าม
- ทุ่มงบดิจิทัล-ลดเหลื่อมล้ำศึกษา
ด้าน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงฯกำลังทำในยุคการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี คือการทุ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา ลดปัญหาการเหลื่อมล้ำ แทนการใช้งบหมดไปกับการดูงานหรืออบรมสัมมนา หรือจัดงานอีเวนท์
“ปัญหาเกิดจากครูไม่มีความรู้เท่ากันทั้งประเทศ ดังนั้น ทุกโรงเรียนต้องมีอินเทอร์เน็ตที่เท่าเทียมกัน เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการเผยแพร่กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับดิจิทัล นี่คือดิสรัปชั่นอย่างแท้จริง แต่กระทรวงศึกษาธิการเองก็ต้องปรับ เมื่อใน 2 เดือนที่ผ่านมาได้พูดคุยกับผู้บริหารในกระทรวงฯ และครู โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นองค์กรที่ใหญ่มาก มีครูกว่า 5 แสนคน นักเรียน 10 ล้านคน และคนภายในกระทรวงศึกษาธิการกว่า 3 หมื่นคน โดยปลุกใจเขาให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง"
เขายังกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการถือเป็นกระทรวงที่สำคัญมากที่สุดของประเทศ โดยมั่นใจว่าผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของไทยหลายรายเจอปัญหาของบุคลากรจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของไทย ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหานี้ให้ประเทศไทย
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้เชิญนักลงทุนจากหลายประเทศ เข้ามาลงทุนในไทย แต่สิ่งที่เห็นคือ บุคลากรที่จะตอบสนองยังไม่เพียงพอและตรงกับความต้องการ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีคุณภาพด้านดิจิทัลยังไม่เพียงพอ
- “ศธ.” ตั้งเป้า 3 ปีปั้นคนคุณภาพ
ใน 3 ปีข้างหน้า กระทรวงศึกษาธิการ ต้องสร้างคนที่มีคุณภาพ แต่คนที่มีคุณภาพไม่ใช่แค่ดิจิทัลอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษด้วย ต้องให้เวลาครู 3 ปี ให้มีความรู้ด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นครูรุ่นใหม่ หรือใกล้เกษียณ เพราะตอนนี้ชีวิตไม่ได้หยุดอยู่แค่ 60 ปี นี่คือการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง
"ถามว่าทำไมต้อง 3 ปี เพราะที่ผ่านมาเราให้ครูไปเรียนภาษาอังกฤษ 3 อาทิตย์ 1 เดือน เขาจะพูดได้อย่างไร ขณะที่อินเทอร์เน็ตจะทำให้ครูสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ครบถ้วนในการเรียนภาษาอังกฤษ และที่สำคัญเราเช็คได้ว่าเขาเข้าไปดูจริงหรือไม่ ผ่านตัวชี้วัดเพื่อให้รู้ว่าผ่านโมดูลใดบ้าง และอินเทอร์เน็ตถือเป็นช่องทางในการพลิกการเรียนการสอนได้"
เขากล่าวว่า นี่คือการก้าวข้ามครั้งใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ และแก้ไขปัญหาเรื่องดิสรัปชั่นในกระทรวงที่คิดว่าน่าจะยากที่สุด แต่ถ้าไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ประเทศเดินหน้าไม่ได้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงหลัก การป้อนคนเข้าไปในภาคอุตสาหกรรม ระบบราชการ ถ้าคนไม่มีความสามารถและไม่เก่งพอ สิ่งที่เกิดขึ้นคือปัญหา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ใส่ใจให้เร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้