เช็คความพร้อม ‘ติมอร์-เลสเต’ ร่วมวงอาเซียน
ติมอร์-เลสเต มีความพยายามและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่ยั่งยืน โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ติมอร์-เลสเตเป็นประเทศเกิดใหม่มีประชากรเพียงแค่ 1 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 2,900 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในสมาชิกอาเซียน ดูเหมือนระดับเศรษฐกิจยังรั้งท้าย และมีช่องว่างระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างติมอร์-เลสเตกับชาติสมาชิกอาเซียน ที่อาจส่งผลให้เกิดการชะลอการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
สิ่งนี้เป็นเหตุผลอันดับต้นๆ ให้บางประเทศสมาชิกอาเซียนไม่มั่นใจและอยากให้ทบทวนการรับ ติมอร์-เลสเต เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในลำดับที่ 11 ตามที่ติมอร์-เลสเตพยายามดำเนินการทุกทางตลอดระยะ 8 ปี
ดิโอนิซิโอ โซอาเรส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติมอร์-เลสเต กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนผลักดันให้ติมอร์-เลสเตเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนว่า ติมอร์-เลสเต มีความมุ่งมั่นการพัฒนาและยกระดับประเทศในทุกๆด้าน โดยเฉพาะเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจให้มีมากขึ้น หวังเข้าไปมีส่วนร่วมกับอาเซียนและไม่เป็นภาระ หากได้รับการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน
"ติมอร์เลสเตได้เตรียมความพร้อมให้กับประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 มุ่งหวังจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนให้สำเร็จภายในปีนี้ ปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็ได้ส่งจัดคณะทำงานเพื่อจะไปสำรวจความพร้อมของติมอร์เลสเตอยู่เป็นระยะๆ "รัฐมนตรีต่างประเทศติมอร์-เลสเต กล่าว
ด้านบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงบทบาทประเทศไทยในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในติมอร์-เลสเตว่า ล่าสุด ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี และคณะเดินทางเยือนประเทศติมอร์-เลสเต เพื่อประเมินความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนจากประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
บุษฎี กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ คณะกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนเอสโคลา เบสิกา ฟิลิเอล อะคานูโน เป็นระดับอนุบาลและประถมศึกษา กับโรงเรียนเอสโคลา เบสิกา เซ็นทรัล ฮีรา ระดับมัธยมศึกษาที่ตำบลฮีร่า อำเภออัลเดียร์ โฮริดอลลาร์ ในกรุงดิลี ซึ่งโรงเรียนทั้งสองอยู่ภายใต้โครงการความร่วมมือการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมการศึกษา สุขภาพ อนามัย โภชนาการและการเรียนรู้ด้านการเกษตร ให้กับเด็กนักเรียนติมอร์ตั้งแต่ปี 2547
บุษฎี กล่าวอีกว่า คณะยังได้เยี่ยมชมพื้นที่และพบปะเกษตรกรชาวติมอร์-เลสเตที่เคยร่วมในโครงการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเห็นถึงความคืบหน้าอย่างมาก และปัจจุบันไทยและติมอร์-เลสเต อยู่ระหว่างการจัดทำแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระยะ 3 ปี ฉบับที่ 3 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการพัฒนาแก่ติมอร์-เลสเต ในสาขาหลัก คือ การเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข
ติมอร์-เลสเต มีความพยายามและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่ยั่งยืน โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ประเทศไทยมุ่งมั่นส่งเสริมติมอร์-เลสเตได้พัฒนาขีดความสามารถในด้านการศึกษาและการเกษตร เพื่อเป็นการวางรากฐานให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สร้างชุมชนต้นแบบตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในด้านการปลูกพืชแบบผสมผสาน การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูก การทำอาหารสัตว์จากวัสดุธรรมชาติในพื้นที่ การเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเกษตรกรและยุวเกษตรกรผู้สนใจ” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวย้ำ
ขณะที่ ตัน เจียงเฮง หยู นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์และการบริหารประเทศ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า ขณะนี้มีเหตุผลมากมายที่บางประเทศอาเซียนต้องการให้ทบทวนรับติมอร์-เลสเตเข้าเป็นสมาชิกใหม่ แต่ปัจจุบันอาเซียนก็ได้พิจารณาถึงประโยชน์ในระยะยาว จากที่ติมอร์-เลสเตมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งสร้างรายได้หลักให้กับประเทศจากทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
ตัน เจียงเฮง หยู กล่าวในตอนท้ายว่า กองทุนดังกล่าวมีแนวโน้มจะมีมูลค่าถึง 2หมื่นล้านดอลลาร์ในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้า และรายได้ดังกล่าวอาจจะมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ติมอร์-เลสเตกับอาเซียน 2562
-'ติมอร์-เลสเต' บนเส้นทางสู่อาเซียน
-“สุวิทย์” ร่วมยกระดับความร่วมมืออาเซียน - สหรัฐ
-'ประยุทธ์' เปิดประชุมรมว.ต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52