วิชั่น"ไทยเบฟ"2025 ขยายอาณาจักร ท้าชนยักษ์เครื่องดื่มโลก
เปิดวิชั่น 2025 เจ้าสัวน้อย “ฐาปน” เดินหน้าขยายอาณาจักรไทยเบฟ บิ๊กเครื่องดื่มไทย-เอเชียแปซิฟิก ลุยผนึกพันธมิตรธุรกิจชั้นนำโลกเสริมแกร่ง สร้างสินค้านวัตกรรม-สินค้าสุขภาพ มองโอกาสสินค้าเกี่ยวกับกัญชา เตรียมยกเรื่องโรงเบียร์ครั้งใหญ่ในปี 63
โค้งสุดท้ายวิสัยทัศน์ 2020 ของการขยายธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารใต้ชายคา “ไทยเบฟเวอเรจ” ที่มียอดขายกว่า “แสนล้านบาท” กำไรกว่า “หมื่นล้านบาท” แม้หลายอย่างจะเป็นไปตาม “เป้าหมาย” ที่วางไว้ เช่น การก้าวเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน และท็อป 5 ของเอเชียแปซิฟิก สินค้าหลายรายการครองบัลลังก์เบอร์ 1 หรือ Local Champion สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น “เบียร์” เมื่อไทยเบฟรวมกับซาเบโก โกยส่วนแบ่งตลาด 26% สุรา เป็น “ผู้นำ” ในไทยและเมียนมา เป็นต้น
แต่เมื่อเจาะลึกเป็นรายสินค้า มีหลายแบรนด์ที่ยังไม่ถึงฝั่ง เช่น เบียร์ช้าง ในไทยยังเป็นรองค่าย “สิงห์” ซึ่งมี “ลีโอ” เป็นเจ้าตลาด น้ำดื่ม น้ำอัดลมฯ ยังเป็น “มวยรอง”
ทว่า เมื่อใกล้ครบวาระวิสัยทัศน์เดิม ทำให้บริษัทวางวิสัยทัศน์ใหม่ หรือ "วิชั่น2025" ขยายอาณาจักรเครื่องดื่มและอาหารมูลค่า “แสนล้านบาท” ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือมุ่งผลักดันธุรกิจของบริษัทให้ “มูลค่าเพิ่ม” พร้อมต่อกรกับคู่แข่งในเวทีโลก
- วิชั่น2020โตก้าวกระโดด
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2562-2563 (ต.ค.2562-ก.ย.2563) ถือเป็นปีสุดท้ายของวิสัยทัศน์ 2020 (ปี2563)ในการขับเคลื่อนธุรกิจของไทยเบฟ ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญในการสร้างฐานธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อเป็นรากฐานในการต่อยอดสู่วิสัยทัศน์ 2025 (2568) ที่จะผลักดันไทยเบฟให้เติบโตอย่างยั่งยืน และตอกย้ำเป็นผู้นำ "เครื่องดื่มครบวงจร" หรือ Total Beverage
ทั้งนี้ 6 ปีที่ผ่านมาของวิสัยทัศน์ 2020 บริษัทให้ความสำคัญการขยายธุรกิจผ่าน 5 กลยุทธ์ ได้แก่ การเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ (Growth) ความหลากหลายของตลาดและผลิตภัณฑ์ (Diversify) สร้างตราสินค้าที่โดนใจ (Brand) การขายและกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง(Reach) เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) สร้างทีมงานที่มีความหลากหลายและประสิทธิภาพการทำงานสูง
ส่งผลให้บริษัทมีการพัฒนาไปอย่างมาก และธุรกิจเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดในไทยผ่านการเข้าไปลงทุนธุรกิจอาหารซื้อร้านเคเอฟซี มูลค่าหมื่นล้านบาท ผนึกพันธมิตรซื้อกิจการร้านกาแฟเบอร์ 1 ของโลกอย่าง “สตาร์บัคส์”
ส่วนในประเทศเพื่อนบ้าน ได้ลงทุนธุรกิจเบียร์ในเวียดนาม ซื้อหุ้นบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก (Sabeco) มูลค่า1.56 แสนล้านบาท และซื้อหุ้นในบริษัท Myanmar Distillery เจ้าของสุราแบรนด์ Grand Royal เป็นต้น
- "3กลยุทธ์" ต่อยอดวิสัยทัศน์
นอกจากนี้ บริษัทได้กำหนดวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจระยะกลางถึงระยะยาว ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ 2025 เพื่อขยายธุรกิจ วิสัยทัศน์ 2030 ในการพัฒนาและยกระดับการทำงาน การผลิตสินค้าโดยใช้เทคโนโลยี และดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และวิสัยทัศน์ 2050 พัฒนาบุคลากร เพิ่มทักษะความรู้ความสามารถ มองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สอดคล้องกับโลกธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไป
ขณะที่ วิชั่น 2025 สร้างการเติบโตและความแข็งแกร่ง บริษัทชู 3 กลยุทธ์หลัก เพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมาย ได้แก่
1.ปลดล็อกคุณค่าทางธุรกิจ (Unlock Value) โดยจะมีก่อตั้งกรุ๊ปสินค้าเป็นโฮลดิ้ง หรือเป็น Cosolidate กันมากขึ้น จะหา “พันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับผู้นำธุรกิจระดับโลก” มุ่งปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และลดภาระหนี้สิน สร้างการเติบโตธุรกิจ
ล่าสุด มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทในอังกฤษ ทุนจดทะเบียน 10,000 ปอนด์ เพื่อมองหาโอกาสธุรกิจ พันธมิตรใหม่ และปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม
“หากมองธุรกิจไทยเบฟในปัจจุบันเรามีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นท็อป 5 ในเอเชียแปซิฟิก รองจากเหมาไถ(Kweichow Moutai) 2 แสนล้านดอลลาร์ Wuliangyia 7.43 หมื่นล้านดอลลาร์ Yilli group 2.38 หมื่นล้านดอลลาร์ อาซาฮี กรุ๊ป 2.29 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่จากนี้ไปเราจะจัดหลังบ้าน ปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการคอนโซลิเดทธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสในการทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับโลกมากขึ้น”
2.ยุทธศาสตร์การสร้าง(Build) ยื่นข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อระดมทุนรับเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยน มุ่งนำเสนอสินค้าที่มีนวัตกรรมตอบสนองผู้บริโภค ลงทุนดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อทำตลาด และลุยสินค้าสุขภาพมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ “กัญชา”
3.เพิ่มจุดแข็ง ซึ่งบริษัทจะเน้นกลยุทธ์การสร้างแบรนด์(Brand)และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย(Reach) มากขึ้น ซึ่งหมายถึงฝ่ายการตลาดและการขายทำงานกันอย่างใกล้ชิดเข้มข้นขึ้น
- ปีหน้าลุยลงทุน 7,000 ล้านบาท
นายฐาปน กล่าวอีกว่า ในปี 2020 บริษัทวางงบลงทุนปกติ (CAPEX) 7,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงโรงงานเบียร์ในไทย หลังผลิตสินค้ามา 25 ปี และบำรุงรักษาเครื่องจักรต่างๆ โดยงบดังกล่าว ไม่รวมการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A)
อย่างไรก็ตาม แผนขยายธุรกิจในอนาคต บริษัทให้ความสำคัญในการบุกตลาดอาเซียน และต่อยอดการค้าเสรีผ่านอาเซียนบวก 3 บวก 6 และบวก 9 ซึ่งจะมีประชากรกว่าครึ่งซีกโลก ประกอบกับที่ผ่านเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ อย่าง ลาว กัมพูชา เมียนมา และเมียนมา เติบโตกว่า 6% สูงสุดในโลกเทียบกับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก
- 9 เดือนรายได้กว่า2แสนล้าน
สำหรับภาพรวมผลประกอบการ 9 เดือนแรก(ปีงบประมาณ ต.ค.2561-มิ.ย.2562) บริษัทมีรายได้จากการขาย 205,277 ล้านบาท เติบโต 18.2% และมีกำไรสุทธิ 21,894 ล้านบาท เติบโต 34% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้ เครื่องดื่มเบียร์มีสัดส่วนรายได้มากสุดที่ 44.8% ตามด้วยสุรา 43.4% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 6.2% อาหาร 5.7% ส่วนกำไรยังมาจากกลุ่มสุราสัดส่วนสูงถึง 85.2% ตามด้วยเบียร์ 15% อาหาร 2.6% ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังฉุดกำไร 2.8%
"การขยายธุรกิจในอนาคต เทรนด์สินค้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีโอกาสที่จะทำสัดส่วนรายได้แซงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่บริษัทจะไม่ทิ้งธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากทำกำไรให้สูง"