กำไรแบงก์ไตรมาส 3 ทรุด "4 แบงก์ใหญ่" กระทบหนัก
นับถอยหลังฤดูกาลรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 ในระหว่างเดือน ต.ค. – พ.ย. ซึ่งจะประเดิมด้วยกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มแรก ซึ่งแนวโน้มที่ตลาดคาดการณ์คือกลุ่มธนาคารมีกำไรลดลงมากที่สุดในไตรมาสดังกล่าว
สะท้อนจากราคาหุ้นกลุ่มธนาคารที่ยังไม่ฟื้นแถมยังปรับตัวลดลงต่อจนทำให้อัตราราคาหุ้นต่อกำไร (P/E) ต่ำสุดในรอบ 10 ปี นั่นหมายความว่าแม้ราคาหุ้นจะลงมาถูกแต่มูลค่าในอนาคตนักลงทุนกลับมองว่ายังไม่น่าสนใจอยู่ดี
หากดูจากปัจจัยที่เข้ามากระทบกลุ่มแบงก์ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยังเป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ตัวเลขต่างบ่งชี้ว่ายังย่ำแย่ทั้งการส่งออก จาก 8 เดือนแรกของปี 2562 ออกมาหดตัวที่ 2.2% ต่อปี มูลค่าส่งออกไทยเดือนส.ค. 2562 กลับมาหดตัวที่ 4.0% ต่อปี โดยเป็นการหดตัวลึกในสินค้าส่งออกหลัก
ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังดำเนินการลดดอกเบี้ยแบบเซอร์ไพรส์หักปากกานักการเงิน เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา 0.25% ลงมาอยู่ที่ 1.50% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี 3 เดือน ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง หลังจากพบภาวะเศรษฐกิจต่ำกว่าคาดไว้ครั้งก่อนที่ระดัล 3.3% อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าขอบล่างกรอบเป้าหมาย 1%
สิ่งที่ตามมาคือ 4 ธนาคารขนาดใหญ่ของไทย ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งสินเชื่อรายใหญ่ที่เบิกเกินบัญชี (MOR) และ สินเชื่อรายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% จากปัจจุบัน MOR และ MRR ของธนาคารอยู่ที่ 7.12% มาอยู่ที่ 6.87% ไล่ตามมากันทันที ซึ่งในส่วนนี้กระทบส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของแบงก์ให้ลดลง
บวกกับการออกมาตรการคุ้มเข้มสินเชื่อในกลุ่มต่างๆ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วยการกำหนดวงเงินการปล่อยสินเชื่อต่อสินทรัพย์ (LTV) มีอัตราลดลงเหลือ 80% จากเดิมเกณฑ์กำหนดอยู่ที่ 90-95% กระทบลูกค้าที่ต้องการกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 และราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป
นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าธปท. เตรียมจ่อคุมเข้มสินเชื่อรถยนต์ เพราะเห็นสัญญาณปล่อยสินเชื่อเอาเปรียบลูกค้า และมียอดการปล่อยสินเชื่อเร่งตัวขึ้นรวดเร็ว ยิ่งไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ต้องเข้าไปดูแลใกล้ชิด รวมทั้งกระแสข่าวการขอความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทยไม่ใช้โปรโมชั่น 0% กับสินค้าอุปโภคบริโภค จนกลายเป็นประเด็นเห็นต่างของนายแบงก์หลายรายที่ออกมาไม่เห็นด้วยและไม่ต้องการให้เข้ามาควบคุม
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2562 ของธนาคาร 8 แห่งที่วิเคราะห์อ่อนลง 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและลดลง 8% จากไตรมาสก่อน เป็น 71,700 ล้านบาท เห็นการฟื้นตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมหลัก ซึ่งมาจากรายได้ธุรกิจกองทุนและประกัน
ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอื่น เช่น กำไรจากเงินลงทุนลดลง ด้านค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้เพิ่ม YoY และยังมีการลงทุนในระบบไอที ส่วนสินเชื่อเติบโตได้แต่ไม่มาก ด้าน NIM คาดว่าจะอ่อนลงจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น โดยมองว่า บริษัท ทุนธนชาต (TCAP) เป็นธนาคารเดียวที่มีกำไรสุทธิในงวดดังกล่าว เติบโตทั้งงวดต่องวดและไตรมาสต่อไตรมาส เพราะมีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสูงขึ้น
ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) กำไรสุทธิเติบโตได้ ไตรมาสต่อไตรมาสเพราะคาดว่าจะขาดทุนจากการขายหลักประกัน (รถยึด) น้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับ 6 ธนาคารที่เหลือกำไรลดลงทั้ง โดย ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีกำไรสุทธิลดลงมากที่สุดเพราะตั้งสำรอง Employee benefit ในไตรมาสนี้
อย่างไรก็ตาม บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) คาดกลุ่มธนาคารจะมีกำไรสุทธิรวมกัน 62,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% จากปีก่อน และ 17.2% จากไตรมาสก่อน โดยเหตุผลหลักที่ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นมาจากการรับรู้กำไรจากการขายประกันของ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นอกเหนือจากรายได้ดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ และทำให้ SCB จะเป็นธนาคารที่มีกำไรโดดเด่นที่สุดในงวดดังกล่าว