ปอท.จ่อรวบ "5 ราย" โพสต์โจมตีสถาบัน
ปอท.คุมตัวนักเคลื่อนไหวกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เอาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โพสต์ข้อความกระทบสถาบันหลังดีอีแจ้งจับ ศาลอนุมัติฝากขัง 12 วัน “ประวิตร” เผยรอผลสอบอีก 5 คน หลังมีข้อมูลเชื่อมโยงโจมตีสถาบัน ขณะที่ รมต.ดีอี แนะร้านอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน
จากกรณีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.3 .บก.ปอท.) ได้จับกุมตัวนายศศิพัฒน์ พงษ์ประภาพันธ์ หรือ กาณฑ์ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) ฐานนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยจับกุมได้ที่บ้านพักย่านสามเสนใน เขตพญาไท กทม. เมื่อคืนวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุด วานนี้(8 ต.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการสืบสวนอยู่ ซึ่งเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รายงานถึงสาเหตุ เพียงแต่บอกว่ามีการจับกุมตัว โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การปราม แต่เป็นการจับจริง เบื้องต้นทางดีอี(กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ได้ประสานมาว่ามีบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ประมาณ 5 คน ส่วนจะมีความเชื่อมโยงกันแค่ไหน ต้องรอผลการสืบสวนก่อน แต่ถ้ามีความเกี่ยวโยงมากก็ต้องดำเนินคดี เนื่องจากถือเป็นการกระทำผิดด้วยการโจมตีสถาบัน
ขณะที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษก บก.ปอท.ได้แถลงข่าวการจับกุมครั้งนี้ โดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ไม่หวังดีได้ก่อกระแสข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยการติดแฮชแท็ก และโพสต์ข้อความเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ผ่านเฟซบุ๊ค อันจะสร้างความเกลียดชัง จนมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นร่วม 100 ราย และแชร์โพสต์ต่อกว่า 50 ครั้ง
นายพุทธิพงษ์จึงประสาน บก.ปอท. สืบสวนติดตามจนสามารถยื่นคำร้องขอศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท
เจ้าตัวรับเป็นผู้โพสต์-ไม่มีเจตนา
จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การภาคเสธ ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ แต่ไม่มีเจตนากระทำผิด ซึ่งเมื่อตรวจสอบประวัติแล้วพบว่านายกาณฑ์ เคยโพสต์ในลักษณะที่เกี่ยวกับความมั่นคงมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งก็นับเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ ตนยืนยันว่า ประเทศไทยมีเสรีภาพในการโพสต์ การแชร์หรือคอมเมนต์ แต่ต้องมีวิจารณญาณว่าเรื่องที่โพสต์ไปเป็นความจริงหรือไม่ และหากโพสต์ไปจะมีใครเสียหายหรือไม่
เล็งเอาผิดกลุ่มผู้แชร์-คอมเมนต์
สำหรับผู้ที่แชร์และคอมเมนต์ในโพสต์ดังกล่าวร่วม 100 รายนั้น จากนี้ก็จะพิจารณาว่าต้องเรียกเข้ามาสอบปากคำหรือไม่ต่อไป และขอฝากเตือนว่าสำหรับประชาชนผู้ใดที่แชร์ หรือส่งต่อข้อความลักษณะดังกล่าว จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (5) ต้องระวางโทษเท่ากับผู้โพสต์หรือผู้นำเข้าสู่ระบบเช่นกัน
ขณะที่ นายพุฒิพงษ์ กล่าวว่า ทั้งหน่วยงานรัฐและตำรวจ ได้ดำเนินการตามกฎระเบียบ และขั้นตอนเพื่อขอศาลออกหมายจับ ซึ่งเราไม่สามารถก้าวล่วงอำนาจศาลได้ ยืนยันว่าการจับกุมทุกครั้ง ต้องดำเนินการภายใต้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ไม่ได้ตั้งเป้าใครเป็นศัตรูหรือใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสิน การที่จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดนั้นต้องทำตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน หากไม่มีหลักฐานก็จะดำเนินคดีไม่ได้
ฝากร้านอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูล
นอกจากนี้ ขอฝากร้านค้าที่เปิดให้ผู้ใช้บริการ ต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตไวไฟภายในร้าน ให้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางอินเทอร์เน็ตของผู้ลงทะเบียนใช้ไวไฟของร้าน เป็นเวลา 90 วัน เพื่อป้องกัน เมื่อมีเหตุอะไรแล้วเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องขอข้อมูลดังกล่าว โดยอาศัยความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 26 ซึ่งดีอีได้หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ปอท.แล้ว และหากไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษตามกฎหมาย
จากนั้น ร.ต.อ.ปียวัฒน์ ปรัญญา พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.3 .บก.ปอท.) คุมตัวนายศศิพัฒน์ ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-19 ต.ค.นี้ เนื่องจากต้องรอสอบปากคำพยานอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจพิสูจน์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา โดยพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหาด้วยเนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่า ปล่อยตัวแล้วจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
ศาลอนุมัติฝากขัง 12 วัน
โดยคำร้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค.62 พบว่ามีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊คชื่อ “กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์” โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ค โดยสื่อให้ผู้เข้าไปดูโพสต์เข้าใจว่าเป็นการพาดพิงถึงสถาบัน เชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาปลุกปั่นกระแสให้ประชาชนที่เห็นโพสต์ดังกล่าวเกิดความตื่นตระหนก เข้าใจผิดและเกิดความแตกแยกในสังคม โดยชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ
ทั้งนี้ศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้ ขณะที่ทางฝ่ายผู้ต้องหากำลังจัดเตรียมเกี่ยวกับการยื่นคำร้อง และหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฝากขัง
สำหรับการจัดตั้งศูนย์เฟคนิวส์นั้น เป็นเพียงหน่วยคัดกรองข่าวที่มีเนื้อหาไม่เป็นความจริง และอาจจะกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง ซึ่งปกติทางดีอีและ ปอท.ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว โดยศูนย์เฟคนิวส์นั้น เมื่อได้รับแจ้งเบาะแสข่าวปลอมมา จะตรวจสอบภายใน 2 ชั่วโมง ก่อนประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'กาณฑ์' เครียดข้อหารุนแรง ตร.บุกจับกลางดึก ทนาย
-รู้จัก! 'กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์' เส้นทางนักเคลื่อนไหว
-'สุวินัย' เตือนสติ! 'กาณฑ์' โดนม.14 'โบว์' โต้ไม่ควรเป็นคดี
-ศาลให้ประกัน 'กาณฑ์' แล้ว วาง 1 แสน ประกันตัว
-ด่วน! ปอท.รวบตัว 'กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์'
-ศาลอาญา รับฝากขัง 'กาณฑ์' โพสต์ข้อความผิด พรบ