ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเกือบ 5 แสนล้านบาทต่อปี

ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเกือบ 5 แสนล้านบาทต่อปี

ผลงาน 6 ปี สปสช.เป็นหน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมเบิกจ่ายค่ารักษาช่วยลดภาระรพ. ประสานส่งข้อมูลแล้ว 115 กองทุน ครอบคลุมประชากรเกือบทั้งประเทศ เหลือ 13 กองทุนย่อย เร่งเดินหน้าต่อ ชี้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเกือบ 5 แสนล้านบาทต่อปี ต้องมีภาพรวมเบิกจ่าย

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ได้มีมติให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกองทุนสุขภาพภาครัฐและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข (National Clearing House : NCH) พร้อมให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อบูรณาการให้เกิด National Health Information Center ที่เป็นฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ เพื่อใช้วิเคราะห์และวางแผนการบริหารสวัสดิการรักษาพยาบาล ปัจจุบันประเทศไทยมีกองทุนสุขภาพภาครัฐจำนวน 128 แห่ง

157089171912

ผลการดำเนินงานในช่วงกว่า 6 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการและกองทุนสุขภาพเป็นอย่างดี นอกจากความร่วมมือ 3 กองทุนสุขภาพหลักที่ได้เข้าร่วมตั้งแต่แรกเริ่ม คือ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดูแลประชากรราว 65 ล้านคนแล้ว ยังได้รับความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐที่ดำเนินกองทุนรักษาพยาบาล 125 แห่ง ที่ดูประชากรราว 8 แสน ซึ่งขณะนี้มีเพียง 13 แห่งอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อดำเนินการ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดูแลประชากรประมาณ 7 แสนคนที่เข้าร่วม

ขณะที่ในส่วนโรงพยาบาลที่ดูแลสิทธิข้าราชการเกือบ 1,200 แห่ง ที่ผ่านมาได้ส่งข้อมูลการเบิกจ่ายมาที่ สปสช.เกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นเพียง 168 แห่งที่เป็นโรงพยาบาลใหญ่และโรงเรียนแพทย์ที่ยังไม่ดำเนินการ นอกจากนี้ สปสช.ยังดูแลในส่วนของการเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ให้กับคนไทยทุกคนตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560

ทั้งนี้จากที่ สปสช.ทำหน้าที่ NCH ข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดจะถูกส่งมาที่ สปสช. จากนั้นจะมีการทำการตรวจสอบความถูกต้องการเบิกจ่ายและส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลกองทุน เพื่อจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับโรงพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นนอกจากลดภาระงานของหน่วยบริการที่ต้องส่งข้อมูลเบิกจ่ายไปยังกองทุนสุขภาพต่างๆ แล้ว ยังลดภาระกองทุนในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ขณะเดียวกันข้อมูลเหล่านี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังนำไปใช้ในด้านการบริหารจัดการ ทั้งการวางนโยบาย ตัดสินใจ กำหนดขอบเขตสิทธิประโยชน์ และจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อ ครม. สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ ที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ วางแผน ทำวิจัยต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีคำขอเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีหน่วยงานต่างๆ ที่ยื่นขอใช้ข้อมูลกว่า 100 คำขอ

“ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเกือบ 5 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้ 4 แสนล้านบาทเป็นสัดส่วนที่รัฐให้การสนับสนุนในกองทุนสุขภาพภาครัฐ ตรงนี้นับว่าสำคัญมาก หากไม่มีข้อมูลภาพรวมการเบิกจ่ายทั้งระบบ ในการบริหารจัดการจะไม่สามารถมองภาพในระดับประเทศได้ แต่เมื่อมี NCH ทำให้ทราบว่า ในด้านสุขภาพประชาชนต้องการอะไรเพิ่มเติม อะไรที่ยังขาด และอะไรที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนากองทุนสสุขภาพ และระบบสุขภาพของประเทศ พร้อมก้าวไปสู่ National Health Information Center ในที่สุด” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว