'บีทีเอส' พร้อมลุยเจรจาซอง 4 อู่ตะเภา
“ทัพเรือ” เปิดซองราคาอู่ตะเภา “บีทีเอส“ เสนอผลตอบแทนแสนล้านชนะ ”แกรนด์ฯ” รอประกาศผล 21 ต.ค.นี้ พร้อมเจรจาซอง 4 ข้อเสนอพิเศษ คาดลงนาม ม.ค.ปีหน้า
พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือและประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกได้มีมติเห็นชอบให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ 2 ราย มีคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) และเห็นชอบให้มีการดำเนินการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา
เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมิน 2 ราย ได้แก่ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส 2.กลุ่ม Grand Consortium ได้ส่งผู้แทนมาเข้าร่วมการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเอกสารการคัดเลือกเอกชนและเป็นธรรมต่อผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย
พล.ร.อ.ลือชัย กล่าวว่า การเปิดเอกสารข้อเสนอซองดังกล่าวมีผู้แทนคณะกรรมการคัดเลือก ผู้แทนคณะทำงานฯ ผู้แทนกองทัพเรือ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ปรึกษาและผู้สังเกตการณ์อิสระจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าสังเกตการณ์ รวมทั้งได้มีการบันทึกภาพนิ่ง ภาพวิดีโอ กล้องวงจรปิดเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตลอดกระบวนการ โดยจะสรุปการประมูลได้ในเดือน พ.ย.นี้ และจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนในเดือน ม.ค.2563
มีรายงานว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เป็นผู้เสนอราคาสูงที่สุด ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประกาศผลซอง 3 อย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ต.ค.นี้
ทั้งนี้ ขั้นตอนตามประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชน (RFP) เมื่อประกาศผลซอง 3 แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาซอง 4 หรือข้อเสนอเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประเมิน รวมทั้งหลังจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาขั้นตอนการเจรจาร่างสัญญา ซึ่งไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงข้อเสนอทางการเงินของผู้ยื่นซอง โดยขั้นตอนการเจรจาจะคล้ายกับการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)
“หากกองทัพเรือประกาศผลให้เป็นผู้ชนะ ถือเป็นไปตามเป้าหมายของการเข้าร่วมประมูล ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสยื่นประมูลทั้งโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูง โดยทั้ง 2 โครงการ เชื่อมโยงกัน แต่ถ้าได้สิทธิเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาก็ไม่น่ามีปัญหา” แหล่งข่าวเผย
สำหรับกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้น 45% บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 35% และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 20%
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า การเปิดซอง 3 ครั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เสนอราคาผลตอบแทนรัฐสูงสุด โดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในหลักแสนล้านบาท ในขณะที่กลุ่ม Grand Consortium ซึ่งประกอบด้วยบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) บริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ได้เสนอราคาผลตอบแทนรัฐในหลักหมื่นล้านบาท โดยข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสถือว่าสูงกว่าที่ภาครัฐประเมิน
สำหรับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้กับภาครัฐ รวมถึงจำนวนเงินที่จะจ่ายให้กับภาครัฐในแต่ละปี ซึ่งเมื่อคิดเป็นมูลค่าผลตอบแทนของภาครัฐสุทธิ (เมื่อหักเงินลงทุนภาครัฐแล้ว) ต้องไม่ต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิ 42,725 ล้านบาท และผู้ยื่นต้องยื่นข้อเสนอแบบจำลองทางการเงินที่แสดงรายได้รวมในแต่ละปีตลอดอายุโครงการ
ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาประเมินผู้ที่เสนอผลตอบแทนดีที่สุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินและเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาซอง 4 ข้อเสนอเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประเมิน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ สงวนสิทธิที่จะพิจารณาซอง 4 ของผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้รับการคัดเลือกหรือไม่ก็ได้
ในขณะที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) เป็นผู้ไม่ผ่านการพิจารณาซอง 2 (ข้อเสนอทางเทคนิค) ตามมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา และกลุ่มซีพีได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเปิดซองข้อเสนอของกลุ่มซีพีเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับผู้ชนะประมูลได้จะได้สิทธิร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน 50 ปี โดยในแผนแม่บทที่ภาคเอกชนเสนอจะต้องรองรับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 60 ล้านคน