4 หน่วยงานค้นหาเด็กเร่ร่อนบนถนนทั่วกรุงฯ 3 หมื่นคน
“โครงการ Children in Street” 4 หน่วยงานค้นหาเด็กเร่ร่อนใช้ชีวิตตามท้องถนนใน กทม. และเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ที่คาดว่ามีประมาณ 30,000 คนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และสร้างอาชีพ ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 หน่วยงานที่ได้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยใช้กลไกของ กสศ. มาบูรณาการ ดำเนินงานร่วมกับหน่วยจัดการศึกษาต่างๆ ในทุกระดับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นระดับก่อนอนุบาล อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา
รวมไปถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเมื่อทราบตัวเลขและตัวตนเด็กกลุ่มนี้ที่ชัดเจน จะได้เร่งหามาตรการช่วยเหลือให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือพัฒนาให้มีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและศักยภาพที่แตกต่างกัน สามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ ไม่หลุดออกนอกระบบการศึกษา
กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) อธิบายว่าปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นไม่ได้รับการศึกษาอยู่นับหลายแสนราย โดยข้อมูลจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ที่ได้ทำการศึกษาประเทศในแถบอาเซียน และคาดการณ์ว่า หากปล่อยให้มีตัวเลขเด็กตกหล่น หรือเด็กไม่ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบในอนาคตต่อภาครัฐหรือภาคสังคม กับการจัดการศึกษาอย่างเสมอภาค
โดยขั้นตอนแรกที่ต้องดำเนินการ คือ ต้องหาเด็กและเยาวชนกลุ่มที่ตกหล่นเหล่านี้ให้พบ เพื่อให้ความช่วยเหลือ และแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด โดยมอบหมายให้ครูจาก กศน. ในแขวงต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 180 แขวง ลงพื้นที่สแกนหาเด็กกลุ่มนี้อย่างเต็มพื้นที่ เพื่อค้นหาและวาง กทม. ให้สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ ซึ่งยูนิเซฟคาดการณ์ว่ามีเด็กบนท้องถนนประมาณ 100 ล้านคนทั่วโลก
การเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากของเด็กบนท้องถนนในเขตเมือง ในส่วนของประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่ามีเด็กบนท้องถนนประมาณ 30,000 คน กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกทม. เป็นเมืองที่มีเด็กข้างถนนกระจุกตัวอยู่มากที่สุด
พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ.กล่าวว่า กสศ.ได้สร้างนวัตกรรมการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุน ศธ.และองค์กรหลักในระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและส่งต่อให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักนำไปขยายผลเกิดความยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา กสศ.ได้ริเริ่มโครงการเสริมความพร้อมส่งน้องไปโรงเรียน เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่พักอาศัยบริเวณริมทางรถไฟยมราช และใช้ชีวิตบนถนน เช่น ขายมาลัยตามสี่แยก หรือ ขอทานบนถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 81 คน
ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการกลับไปสู่โรงเรียนของเด็กกลุ่มนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเด็กบนท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีแนวโน้มหลุดออกนอกระบบการศึกษา แนวทางดังกล่าวถูกนำมาพัฒนาเป็นโครงการ Children in Street ในพื้นที่ กทม. โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือและกลไกปกป้องคุ้มครองกลุ่มเด็กและเยาวชนบนท้องถนน เพื่อยกระดับให้มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง และสนับสนุนให้เด็กกลุ่มนี้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง
นอกจากการสำรวจตัวเลขแล้ว โครงการนี้ยังได้วางแผนถอดบทเรียนและสังเคราะห์รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ โดยคณะนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำเป็นชุดข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการพัฒนาระบบสนับสนุนและแนวทางสร้างแรงจูงใจในการกลับคืนสู่หรือคงอยู่ในระบบการศึกษา รวมถึงแนวทางการพัฒนาทักษะชีวิต และทักษะอาชีพของเด็กบนท้องถนนผลลัพธ์ในการดำเนินงานของโครงการ จะช่วยสร้างศักยภาพของกลุ่มเด็กและเยาวชนเหล่านี้ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต หากได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคและสอดคล้องกับศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล
กุลธร เลิศสุริยะกุล ผู้รับผิดชอบโครงการ Children in Street ในพื้นที่ กทม. กล่าวว่าเมื่อทราบจำนวนของเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ใช้ชีวิตตามท้องถนน ในพื้นที่ กทม.แล้ว จะนำตัวเลขและรูปแบบปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่มาออกแบบวิธีการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ ครูกศน. ในกทม. ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 700 คนเป็นผู้สำรวจ และบันทึกข้อมูลโดยใช้ Google Form หรือแบบสอบถามออนไลน์ที่ใช้สำหรับรวบรวมข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้งานได้หลายรูปแบบ ก่อนจะโอนข้อมูลที่ได้ไปยังระบบ
Thai Out of School in street (ThaiOOSCIS) เป็นระบบแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาระบบโดยความร่วมมือระหว่าง กสศ.กับมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นระบบหลักประกันโอกาสทางสังคม เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อให้คนในพื้นที่สำรวจ และจัดบริการให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาในแต่ละจังหวัด ด้วยข้อมูลตั้งต้นจากที่ไปนำเอาฐานข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์มาลบออกด้วยฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการที่จะรวมนักเรียนทุกสังกัด ซึ่งกสศ.เคยออกแบบขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อใช้เก็บข้อมูลเด็กนอกระบบในพื้นที่ 20 จังหวัดต้นแบบ
โครงการจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน ในการสำรวจพร้อมทั้งสรุปและประเมินสถานการณ์ เพื่อให้ทราบว่าพื้นที่ไหนบ้างที่เด็กๆ ไปรวมกลุ่มกัน หรือจุดไหนที่เด็กไปใช้ชีวิตบนท้องถนน ก่อนนำมาสรุปพูดคุยกันในเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ ซึ่งดูแลเด็กกลุ่มนี้ วางแผนการดูแล หากพื้นที่ไหน ไม่มีใคร หรือไม่มีกำลังดูแล ก็จะวางแผนให้ ครูกศน.ที่มีจิตอาสาใน กทม.เข้าไปประสานดูแล พร้อมทั้งวางแผนศึกษาข้อมูลเชิงลึกกับเด็กกลุ่มนี้ หารูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมให้พวกเขากลับเข้าสู่โอกาสทางการศึกษาต่อไป