ศาลฎีกาพิพากษา '3 แกนนำ นปช.' ชดใช้ 21 ล้าน เจ้าของตึกถูกเผา
คดีที่ 2 ศาลฎีกาพิพากษา "ณัฐวุฒิ-จตุพร" ร่วมชดใช้กว่า 21 ล้าน เจ้าของตึกย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ เสียหายเหตุสลายชุมนุมปี 53
เมื่อวันที่ 16 ต.ค.62 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ 1762/2554 ที่นายประสงค์ กังวาฬวัฒนา เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) , นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี , นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี , กระทรวงมหาดไทย , นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย , กระทรวงกลาโหม , พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ , นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดเรื่องละเมิด พร้อมเรียกค่าเสียหาย
โดยกรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐทำการสลายการชุมนุม นปช. ที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ซึ่งต่อมาเกิดเหตุการณ์เผาอาคารในหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยสำนวนนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีเผาอาคารพาณิชย์ ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใกล้อาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน และอาคารดอกหญ้า ซึ่งการพิจารณาในศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด เมื่อมีการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับเป็นให้นายจตุพร ประธาน นปช. , นายณัฐวุฒิ เลขาธิการ นปช. , นพ.เหวง แกนนำ นปช. จำเลยที่ 8-10 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,509,500 บาทกับจำนวน 638,710 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พ.ค.53 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้แก่นายประสงค์ โจทก์ กับให้จำเลยที่ 8-10 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลแทนโจทก์ด้วย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท ขณะที่จำเลย ใช้สิทธิยื่นฎีกาตามกฎหมายต่อสู้คดี
ขณะที่ นัดฟังคำพิพากษาฎีกาวันนี้ มีเพียงผู้รับมอบฉันทะจากโจทก์ และทนายความจำเลยที่ 8-10 เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยศาลฎีกา มีพิพากษาแก้ เป็นให้นายจตุพร ประธาน นปช. , นายณัฐวุฒิ เลขาธิการ นปช. , นพ.เหวง แกนนำ นปช. ร่วมกันชำระค่าเสียหาย ที่อาคารพาณิชย์พร้อมทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย จำนวน 21,356,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พ.ค.53 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าขาดผลประโยชน์ จำนวน 1.2 ล้านบาท ในอัตราเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องที่ 18 พ.ค.54 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระค่าอาคารพาณิชย์พร้อมทรัพย์สินที่โจทก์เสียหายเสร็จ แต่ทั้งนี้ในการชำระค่าขาดไร้ผลประโยชน์นั้นต้องไม่เกิน 24 เดือน และให้จำเลยที่ 8-10 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาทด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุการฟ้องคดีของเอกชน เพื่อเรียกค่าเสียหายในทรัพย์สินที่ถูกเพลิงไหม้ ช่วงการสลายชุมนุม นปช.ปี 2553 นั้น คดีนี้ถือเป็นสำนวนที่ 2 โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.62 ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาฎีกา ที่ผู้ประกอบธุรกิจย่านราชปรารภ 4 ราย เขตราชเทวี ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐและแกนนำ นปช. สำนวนแรก ซึ่งอยู่บริเวณประกาศพื้นที่ควบคุมชุมนุมที่มีการวางเพลิง โดยหน่วยงานรัฐนั้นได้ยกฟ้องไป แต่ ให้ นายจตุพร ประธาน นปช , นายณัฐวุฒิ เลขาธิการ นปช. และนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช. ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากคำปราศรัยของแกนนำนั้นเป็นลักษณะยั่วยุปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมเกิดความโกรธแค้น เป็นการยั่วยุปลุกเร้าให้ผู้ร่วมชุมนุมเกิดความโกรธแค้น ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะเกิดผลขึ้นตามคำปราศรัย จึงให้ชดใช้สำหรับผู้ประกอบการรายแรก เป็นเงิน 1,347,000 บาท , ให้คู่สามี-ภรรยา โจทก์ที่ 2-3 อีกรายละ 12 ล้าน ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ 10 คูหาประกอบธุรกิจส่วนตัว และที่พักอาศัย ย่านราชปรารภ เขตราชเทวี และ บจก.ยูแอลซี ซอฟแวร์ โจทก์ที่ 4 อีกจำนวน 6 ล้าน โดยให้ชำระเงินต้นดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันถัดฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ