เปิดสมรภูมิตะวันออกเฉียงเหนือซีเรีย
เปิดสมรภูมิตะวันออกเฉียงเหนือซีเรีย หลังเกิดสูญญากาศทั้งที่รัสเซีย ตุรกี และอิหร่านแข่งกันเข้าไปเติมเต็มช่องว่างนั้น
เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ตัดสินใจถอนทหารออกจากซีเรีย ทำให้ดุลอำนาจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเปลี่ยนแปลงทันที เกิดสูญญากาศที่ทั้งรัสเซีย ตุรกี และอิหร่านแข่งกันเข้าไปเติมเต็มช่องว่างนั้น
ส่วนชาวเคิร์ดที่ถูกกองทัพตุรกีกดดันมาจากชายแดนให้เคลื่อนลงใต้ จึงต้องเชื้อเชิญกองทัพรัฐบาลซีเรียที่มีรัสเซียหนุนหลังเข้ามาจากด้านใต้และตะวันตก กองทัพประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ฉวยโอกาสที่สหรัฐล่าถอยเข้ายึดเขตอุดมน้ำมัน ที่ตนเองละทิ้งไปเมื่อหลายปีก่อนกลับคืนมา
พื้นที่นี้ประกอบด้วยดินแดนส่วนใหญ่ของซีเรีย ที่กลุ่มไอเอสก่อตั้งเป็นรัฐอิสลาม ตอนนี้ไอเอสต้องหลบอยู่ใต้ดินแต่ประกาศว่าจะกลับมาใหม่ ที่ถูกจำคุกอยู่มีกว่า 10,000 คน หลายคนเป็นนักรบต่างชาติที่รัฐบาลชาติตะวันตกไม่ยอมรับคืน ส่วนสมาชิกในครอบครัวไอเอสอีกหลายหมื่นคนอาศัยอยู่ในค่ายพักพิง
ส่วนเหตุผลที่ตุรกีต้องรุกรบในพื้นที่นี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีเตย์ยิป เออร์ดวน ต้องการให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากถึง 2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับนิกายซุนหนี่ ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ที่ปัจจุบันกองกำลังนำโดยชาวเคิร์ดควบคุมอยู่
ช่วงสัปดาห์แรกของการโจมตีกองทัพตุรกีและกบฏซีเรียที่รัฐบาลอังการาสนับสนุน เน้นขับไล่นักรบวายพีเจ ชาวเคิร์ดซีเรียออกจากเทลอับยัดและราสอัลเอน สองเมืองใหญ่บริเวณชายแดน ห่างกันราว 120 กิโลเมตร
แม้ถูกประชาคมโลกวิจารณ์ เออร์ดวนกล่าวว่า ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งปฏิบัติการต่อต้านกองกำลังวายพีจีชาวเคิร์ดได้ รัฐบาลอังการามองว่า วายพีจีเป็นกลุ่มก่อการร้ายพัวพันกับกลุ่มกองโจรที่สู้รบอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ในตุรกี
เออร์ดวนเผยว่า ตุรกีจะยึดฉนวนบริเวณชายแดนความยาวหลายร้อยกิโลเมตรจากเมืองโคบานีทางตะวันตก ไปถึงเมืองฮาซากาทางตะวันออก และลึกเข้าไปในซีเรีย 30-35 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่ตุรกีรายหนึ่งเผยว่า ปฏิบัติการดำเนินไปค่อนข้างรวดเร็วและประสบความสำเร็จ เฟสแรกจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 13 พ.ย. เมื่อเออร์ดวนมีกำหนดพบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างเยือนกรุงวอชิงตันของสหรัฐ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุว่า ถึงเวลานั้นตุรกีจะรุกไปมากแค่ไหน
การที่สหรัฐถอนทหารออกไปหมดแล้วกองทัพซีเรียส่งกำลังเข้าไป ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของความขัดแย้งในซีเรีย กองทัพอัสซาดยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศคืนมาได้อีกครั้ง
ดินแดนแถบนี้มีทั้งน้ำมัน พื้นที่เกษตร แหล่งน้ำ และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ทับกา สินทรัพย์สำคัญที่จะช่วยให้รัฐบาลรับมือผลกระทบจากการถูกตะวันตกคว่ำบาตรได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งยืดเยื้อทำให้กองทัพของอัสซาดอ่อนแอลงไปมาก ตอนนี้ต้องพึ่งพารัสเซีย อิหร่าน และกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ของอิหร่านเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มชีอะห์เป็นพันธมิตรกับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ของเลบานอนด้วย
ด้านกลุ่มชาวเคิร์ดซีเรียก็ฉวยจังหวะที่กองทัพรัฐบาลถอนตัวออกไปจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงที่ความขัดแย้งปะทุขึ้นใหม่ๆ สร้างเขตปกครองตนเองและสอนภาษาเคิร์ดในโรงเรียน
เมื่อสหรัฐถอนตัวไปแล้วทหารตุรกีเข้ามาโจมตี ชาวเคิร์ดซีเรียก็ต้องขอให้กองทัพซีเรียเข้ามาช่วย ตอกย้ำว่าพวกเขาอ่อนแรง และความฝันหลายอย่างของพวกเขาอาจต้องสิ้นสุด คงได้แต่หวังว่าจะรักษาการปกครองตนเองให้ได้มากที่สุดในการเจรจากับซีเรีย ที่ชาวเคิร์ดต่อต้านมาตลอด แต่ตอนนี้ไม่มีมหาอำนาจสนับสนุนเคิร์ดอีกแล้ว
กระนั้น รัฐบาลดามัสกัสและกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (เอสดีเอฟ) ก็มีเป้าหมายร่วมในการขับไล่ตุรกีออกจากภาคเหนือของซีเรีย หรืออย่างน้อยก็ต้องสกัดไม่ให้รุกคืบ
“ดามัสกัสต้องการเคิร์ด เคิร์ดและดามัสกัสมีสองสิ่งเหมือนกันคือ เป็นศัตรูกับตุรกีและไม่อยากเห็นกองกำลังซุนหนี่ปกครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย แต่พอพูดถึงการปกครองพื้นที่นี้ทั้งสองฝ่ายไม่เคยเห็นพ้องกันเลย” โจชัว แลนดิส หัวหน้าศูนย์ตะวันออกกลางศึกษา มหาวิทยาลัยโอกลาโฮมากล่าว
สำหรับรัสเซียนั้นมีบทบาทสำคัญยิ่ง การร่วมปฏิบัติการทางอากาศช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับอัสซาดในสงครามกลางเมืองซีเรีย ยิ่งทรัมป์ตัดสินใจถอนทหารออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยิ่งตอกย้ำให้รัสเซียเป็นศูนย์กลางในการกำหนดอนาคตของซีเรีย