'เซ็นทรัล'ส่อชวดประมูล ดิวตี้ฟรีดอนเมือง
ทอท.ขายซองชิงดิวตี้ฟรีดอนเมือง 24 ต.ค.นี้ สัมปทานบริหาร 10 ปี ครึ่ง คาดเอกชนร่วมประมูลไม่ต่ำกว่า 5 ราย ชี้ “ซีพีเอ็น” เข้าร่วมชิงไม่ได้ เหตุมีข้อพิพาทคดีเซ็นทรัลวิลเลจ
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) สนามบินดอนเมือง1 สัญญา เป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565-31 มี.ค.2576
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เปิดเผยว่า ทอท.ออกประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้น ทอท.ประเมินว่าผู้เข้าประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินดอนเมือง น่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกับการประมูลดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อต้นปี 2562 ที่มีเอกชนสนใจจำนวน 5 ราย
สำหรับรายละเอียดของเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ทอท.ยังยึดตามกรอบกำหนดเช่นเดียวกับทีโออาร์ดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิและโครงการประมูลอื่น โดยเฉพาะประเด็นคุณสมบัติของเอกชนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการ ต้องไม่เป็นผู้ที่มีข้อพิพาทในประเด็นของสัญญาหรือข้อกฎหมายกับ ทอท.ที่ถึงขั้นฟ้องร้องในกระบวนการศาลหรืออนุญาโตตุลากร ในขณะที่ยื่นข้อเสนอการดำเนินงาน
ข้อกำหนดดังกล่าวส่งผลให้การประมูลดิวตี้ฟรีดอนเมืองครั้งนี้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น จะเข้าร่วมประมูลไม่ได้ เพราะมีข้อพิพาทกับ ทอท.จึงไม่เข้าตามเกณฑ์
นายนิตินัย ยืนยันว่า ทอท.ไม่ได้สกัดกั้นซีพีเอ็นเข้าประมูล เพราะ ทอท.ใช้เกณฑ์นี้มานาน และทุกรายใช้มาตรฐานนี้เช่นเดียวกัน โดยประเด็นดังกล่าวอยู่ในข้อบังคับการให้สิทธิ์ประกอบกิจการพาณิชย์ของ ทอท. ที่เขียนไว้ตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน แต่ถ้าซีพีเอ็นจะยื่นข้อเสนอในนามบริษัทอื่นของเครือก็ดำเนินการได้ ซึ่งบริษัทที่จะยื่นก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์คุณสมบัติ
รายงานข่าวจาก ทอท.ระบุว่า ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินดอนเมือง มีกำหนดเปิดให้ผู้สนใจซื้อทีโออาร์ ระหว่างวันที่ 24 ต.ค.-8 พ.ย.2562 โดยหลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนรับฟังคำชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมและดูสถานที่ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ก่อนจะให้เอกชนยื่นข้อเสนอวันที่ 11 ธ.ค.2562 และประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเวลา 11.00 น. ของวันเดียวกัน
สำหรับผู้ที่ผ่านคุณสมบัติจะต้องนำเสนอผลงานข้อเสนอด้านเทคนิค ในวันที่ 12-13 ธ.ค.2562 ที่อาคารสำนักงานใหญ่ ทอท. จากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุดในวันที่ 16 ธ.ค.นี้
ตัดสิทธิผู้มีคดีกับ ทอท.
ส่วนของการกำหนดคุณสมบัติ ผู้มีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอจะต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือนิติบุคลหลายรายรวมกลุ่มกัน โดยมีผู้รับผิดชอบหลัก (Lead Firm) เป็นนิติบุคคลไทย ส่วนทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทถ้วน
ขณะเดียวผู้ยื่นข้อเสนอหรือสมาชิกในกลุ่มต้องไม่ถูก ทอท.บอกเลิกสัญญา หรือมีหนี้สินค้างชำระ หรือไม่เป็นผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ชำระหนี้และยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวอยู่ในวันยื่นข้อเสนอการดำเนินงาน หรือต้องไม่เป็นผู้ที่มีข้อพิพาทในประเด็นของสัญญาหรือข้อกฎหมายกับ ทอท.ที่ถึงขั้นฟ้องร้องศาลหรืออนุญาโตตุลากร
นอกจากนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านหนึ่ง ประกอบไปด้วย 1.ประสบการณ์ในการบริหารห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,000 ตารางเมตร ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังเปิดบริการ หรือ 2.มีประสบการณ์บริหารดิวตี้ฟรี มีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 500 ตารางเมตร ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือยังเปิดบริการในปัจจุบัน
“คิงเพาเวอร์”แชมป์เก่า
สำหรับดิวตี้ฟรีสนามบินดอนเมืองปัจจุบัน ทอท.มีสัญญาสัมปทานร่วมกับกลุ่มคิงเพาเวอร์ ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานเดือน ก.ย.2565 ทำให้การเร่งรัดเปิดประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้ จะมีเวลาเหลือให้เอกชนบริหารจัดการและเข้าพื้นที่ราว 2 ปี ก่อนสัญญาสัมปทานเดิมจะหมดลง โดยผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิ์บริหารพื้นที่ดิวตี้ฟรีดอนเมืองระยะ 10 ปีเช่นเดียวกับดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ โดยจะเริ่มสิทธิ์ต่อเนื่องจากสัมปทานเดิมหมดอายุในเดือน ก.ย.2565 และหมดอายุสัมปทานในเดือน ก.ย.2575
ทั้งนี้ พื้นที่ที่เอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิ์บริหารจัดการดิวตี้ฟรีสนามบินดอนเมือง มีพื้นที่รวมไม่เกิน 4,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) แบ่งออกเป็น พื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารผู้โดยสาร 2 ที่ปัจจุบันรองการรับการเดินทางภายในประเทศ จะถูกปรับเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1,800–2,000 ตร.ม.และส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ หรืออาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งจะพัฒนาเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ
ฟ้อง ทอท.คดีเซ็นทรัลวิลเลจ
สำหรับการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ กลุ่มเซ็นทรัลได้ซื้อซองประมูลทั้ง 2 โครงการ แต่ยื่นซองประมูลเฉพาะการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งผู้มีคะแนนสูงเป็นอันดับ 1 คือ บริษัทคิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด และอันดับ 2 คือ บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางกรณี ทอท.กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิด หลังจากเซ็นทรัลได้รับอนุญาตให้ทำทางเชื่อมในเขตทางหลวงได้เป็นการชั่วคราว แต่ ทอท.ตั้งเต็นท์ขวางทางเข้าออกโครงการเพื่อตัดคันหินทางเท้าเปิดทางเชื่อมเพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย