'อดีตรมช.คลัง' เตือนรัฐอย่าประเมินเศรษฐกิจดีเกินไป
“พิสิฐ ลี้อาธรรม” อดีตรมช.คลัง เตือนรัฐอย่ามองเศรษฐกิจดีเกินไป จะนำไปสู่การประเมินที่ผิดพลาด แนะกระทุ้งงบค้างท่อ 1 ล้านล้านบาท เอามากระตุ้นเศรษฐกิจ
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ตอนหนึ่งว่า ไม่อยากให้รัฐบาลมองสภาพเศรษฐกิจในแง่ดีเกินไป เพราะอาจจะเป็นการประเมินที่ผิดพลาด
ย้อนกลับไปเมื่อปี 40 รัฐบาลในขณะนั้นก็มองว่าเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) จึงตั้งเงื่อนไขเรื่องการจัดเก็บรายได้ และเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากกับรัฐบาลไทย (แลกกับการกู้เงิน) แต่ต่อมารัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า จริงๆ แล้วเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ต้นปี 40 จึงได้ต่อรองกับไอเอ็มเอฟ เรื่่องขึ้นภาษี ให้ลดการจัดเก็บรายได้ลง และยอมให้รัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นของเศรษฐกิจไทยซึ่งวิกฤติที่สุดในครั้งนั้น ได้รับการเยียวยา ปัจจุบันงบประมาณ และจีดีพีของประเทศโตกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วหลายเท่าตัว
นายพิสิฐ ยังเตือนว่า ตัวเลขรายได้ที่รัฐบาลตั้งไว้ 2.7 ล้านล้านบาท อาจจะขาดหายไป และตัวเลขขาดดุลงบประมาณจะมากขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ การเบิกจ่ายงบที่ผ่านมา ในปี 2561 มีการทิ้งวงเงินถึง 3.37 แสนล้านบาท ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยเคยเกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ งานต่างๆ ของภาครัฐจะขาดหายไป ส่งผลกระทบกับเอกชน ขณะที่งบปี 2563 จะล่าช้าถึง 4 เดือน จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่ ตนได้รับข้อมูลจากสำนักงบว่า ช่วง 4 เดือนแรก จะมีการใช้จ่ายจากส่วนกลางไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นกว่าล้านบาท ฉะนั้นรัฐบาลต้องหาทางเบิกจ่ายเงินของรัฐเข้าไปในระบบ เพราะถ้าทำงบประมาณเพิ่มเติมแบบที่ผ่านๆ มา กว่าจะเริ่มต้นทำโครงการได้ก็เสียเวลาไปอีกหลายเดือนอยู่ดี
รัฐบาลยังมีเงินค้างท่ออยู่ราว 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพัน และมีโครงการที่ส่วนราชการตรวจสอบแล้ว และผ่าน ครม.แล้ว ถ้าเร่งการเบิกจ่ายส่วนนี้แค่ 10% ก็เป็นแสนล้านบาทแล้ว ถ้าอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ 1-2 แสนล้านบาทในช่วง 3-4 เดือนนี้ ก็จะช่วยเยีววยาเศรษฐกิจไทยไม่ให้อยู่ในภาวะถดถอยมากขึ้นได้
ส่วนความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นายพิสิฐ กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีเงินคงคลัง 5 แสนกว่าล้านบาท ฉะนั้นไม่ต้องไปก่อหนี้เพิ่ม แต่ลดเงินคงคลังลง ก็จะช่วยได้ และไม่ได้เพิ่มหนี้สาธารณะ พร้อมกับเตือนว่า ความเดือดร้อนในภาคเศรษฐกิจนั้นมีจริง ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้มาตรการการคลังแก้ไขได้
อดีตทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ ยังอภิปรายในตอนท้ายว่า เท่าที่ตรวจสอบตัวเลข พบว่าการจัดสรรงบประมาณยังเป็นแบบเดิมๆ ให้แต่กระทรวงเดิมๆ ซึ่งมีภารกิจเดิมๆ รออยู่แล้ว แต่กระทรวงใหม่ๆ กลับได้งบประมาณเพียงเล็กน้อย เช่น กระทารวงดิจิทัลฯ กระทรวงอุดมศึกษาฯ ทำให้ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจากกระทรวงใหม่ๆ ที่ตั้งขึ้น ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป การจัดทำงบจะตีบตันมากขึ้น และไม่มีเงินงบประมาณลงไปในเซคเตอร์ใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี