เทียบ 10 ตลาดหุ้นทั่วโลก ค่า P/E ใครแพงสุด?

เทียบ 10 ตลาดหุ้นทั่วโลก ค่า P/E ใครแพงสุด?

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงลึก เมื่อเทียบหุ้นโลก ขณะที่ค่า P/E หุ้นไทย เทียบหุ้นทั่วโลกอยู่โซนกลาง-ล่างที่ 12 เท่า โบรกเผย ปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้าที่ยังต้องระวัง

แม้ว่า SET INDEX วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 256 จะปรับตัวขึ้นมา +14.12 จุด หรือ +1.22% อยู่ที่ 1,173.76 จุด แต่ในภาพรวมของปี 2568 ยังอยู่ในโซนอันตรายจากปัจจัยหลายด้านรุมเร้าทั้งเศรษฐกิจไทยยังคงมีความสุ่มเสี่ยงจากสงครามการค้ายังไม่สงบนิ่ง ทำให้เมื่อเทียบค่า P/E กับทั่วโลก ตลาดหุ้นไทย ยังอยู่ในสภาวะระดับกลางถึงระดับต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันขณะนี้ P/E บ้านเราเทรดกันอยู่ในกรอบประมาณ 12 -12.5 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบประมาณ -1SD. เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลกเทรดอยู่ประมาณ 17 เท่า และเมื่อเทียบกับ Emerging Markets อยู่ประมาณ 12 เท่า ขณะที่ Valuation หุ้นไทยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลกเราถือว่า เทรดค่อนข้างต่ำ

ทั้งนี้ ประเด็นหลักของบ้านเราขณะนี้ คือ หลายคนเริ่มมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ประมาณการว่าจะโตได้ที่ 2% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกอยู่ที่ประมาณ 3% ขณะที่ทั้งปีกสิกรไทยประเมินไว้ที่ 2.4%

โดยเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังคงมีความเสี่ยงอยู่ 2 เรื่อง คือ ส่งออกหลังจากที่คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะเดียวกัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ครึ่่งปีหลังถือว่าน้อยมาเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจไทยจึงมีความน่ากังวล และปัจจุบันการหาเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตค่อนข้างยาก เพราะหากรวมกับของเก่าที่มีการกู้ยืมของเราค่อนข้างมีจำกัด 

ขณะเดียวกันกำไรตลาดหลักทรัพย์ฯ บ้านเรา เป็นลักษณะเทรนด์ขาลง ปัจจุบัน EPS ของตลาดที่ 95 บาท แต่ทว่าหากปลายปีนี้ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า รวมถึงโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก รวมถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และภาพรวมของเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีการชะลอตัว ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลให้กลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มออโต้ อาจจะมีดาวไซด์อยู่ที่ประมาณ 40,000 -50,000 ล้านบาท ฉะนั้น EPS ปลายปีนี้อาจจะหล่นลงมาเหลือที่ประมาณ 90 บาทได้  ทั้งนี้ การ  downgrade ประมาณการยังไม่ได้จบรอบ ทำให้ในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้กำไรตลาดหลักทรัพย์จะโดน downgrade ต่อเนื่อง 

"ตลาดหุ้นไทย และเศรษฐกิจไทยยังขาดปัจจัยสนับสนุน อย่างไรก็ตาม จากดัชนีหุ้นไทยที่มีการปรับตัวลงมาตั้งแต่ต้นปีประมาณ 250 จุด จาก 1400 จุด ลงมา ที่ประมาณ 1150 จุด เชื่อว่ารับปัจจัยดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้นกรอบบริเวณที่ 1150 จุด อาจจะทำให้ดัชนีหุ้นไทยใกล้หยุดลง แต่ถ้าจะให้ขึ้นแรง ๆ ก็ยังคงลำบาก จึงเป็นการเปลี่ยนเทรนด์จาก Sideways down เป็น Sideways ก็เป็นไปได้"

ส่วนปัจจัยที่ต้องตามต่อในอนาคต แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจ แต่ทว่า ปัจจัยที่จะช่วยประคับประคองหุ้นด้วยกันมีอยู่ด้วยกันคือ โครงการ TISA ของตลาดหลักทรัพย์ที่คาดการณ์ว่า 3 -6 เดือนข้างหน้าอาจจะเห็นมาตรการ ซึ่งได้มีการศึกษาจากทางญี่ปุ่น พบว่า พอช่วงประคองตลาดหุ้นไทย จะเห็นว่าเม็ดเงินของทางญี่ปุ่นตั้งแต่ ปี 2015 อยู่ที่ 6.4 ล้านล้านเยน ปรับตัวขึ้นมา 20 ล้านล้านเยน ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ณ ตอนนั้น MSCI Japan ซึ่งในขณะนั้นถือว่า Outperfrom MSCI World ด้วย และ โครงการ Jump+ จะเห็นผลในเดือนนี้ว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ ปัจจุบันหุ้นที่ บล.กสิกร Cover มีด้วยกัน 190 ตัว โดยหากพิจารณาบริษัที่สามารถทำกำไรได้ติดต่อกัน 3 ปี ใน 190 บริษัท จะมีด้วยกัน 26 บริษัท ซึ่งถ้าได้เข้าโครงการ Jump+ จริง ๆ จะเป็นผลบวกต่อกำไรตลาดหลักทรัพย์ที่ 3% หรือประมาณ 34,000 ล้านบาท ก็จะช่วยเพิ่ม EPS ได้ในโครงการ Jump+ 

ขณะที่กองทุน LTF สามารถโอนมายังกองทุน Thai ESG X ได้และสามารถลดหย่อนภาษีได้ 500,000 บาท แต่ในปีแรกหลักได้ที่ 300,000 บาท มองว่าไม่ได้เป็นตัวช่วยที่จะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามา แต่จะเป็นการลดแรงเทขายออกมา เพราะในแต่ละปีจะมีแรงขายออกมาประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่ทว่าปีนี้ 3 เดือนแรกแรงขายออกมามากถึง 30,000 บาท ส่วนเม็ดเงินใหม่ในกองทุน Thai ESG X หากอิงกับกองทุน SSF ในอดีตในปี 2563 ขณะนั้น มีการเปิดให้ซื้อ 3 เดือน สามารถซื้อได้ 200,000 บาท ถือครอง 10 ปี ขณะนั้นมียอดกว่า 10,000 ล้านบาท จึงว่าในรอบนี้ระยะเวลาไม่นานเท่า SSF ทำให้มีโอกาสเพิ่มเป็น 15,000 - 20,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ตรงนี้จะเป็นเม็ดเงินใหม่เข้ามาหล่อเลื้ยงสภาพคล่องได้

ขณะที่สงครามรัสเซีย ยูเครนถือว่าไม่ใช่ประเด็นใหม่ เพราะเกิดขึ้นมาแล้ว 3 ปี แต่ทว่าสงครามการค้าที่ทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีไม่ว่าจะทำจริงหรือไม่จริง แต่อย่างน้อยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการลงทุนหายไปอย่างชัดเจน หากสังเกตดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลงมาโดยเฉพาะในฝั่งของสหรัฐ 

"วันที่ 2 เม.ย.หลายคนมองว่า เราจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีหรือไม่ ซึ่งมองว่ามี่หลายเกณฑ์ในแง่ของการเกินดุลปัจจุบันเราเกินดุลการค้าที่ 45,000 ล้านบาท คิดเป็นประเทศที่ 11 ของโลก ซึ่งหากดูในเกณฑ์นี้ เราอาจจะไม่ได้อยู่ใน Tier1 แต่ทว่าไล่ลงมาเรื่อย ๆ ไทยเองก็มีโอกาสในการโดนเช่นกัน ขณะที่เกณฑ์ส่วนต่างภาษี ไทยสูงกว่าสหรัฐที่ 12% หากนับ 2 เกณฑ์นี้คาดว่าไทยก็จะโดนด้วยเช่นกัน แต่ต้องดูด้วยว่า ไทยจะโดนทางตรงหรือทางอ้อม เบื้องต้นได้รวมผลกระทบส่งออกชะลอตัวลงในปีนี้ประมาณการส่งออกที่ 2.5% จีดีพีอยู่ที่ 2.4%"


ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หุ้นบ้านเราลงมาเยอะมาก ตั้งแต่ที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งวันที่ 5 พ.ย.2567 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1481 จุด ขณะที่ปัจจุบันหลุด 1200 จุด หายลงมาประมาณ 400 กว่าจุด ภายในระยะเวลา 4 เดือน ทั้งนี้ การส่งออกบ้านเราอยู่ที่ประมาณ 70% ทำให้ได้รับแรงกดดันจากนโยบายภาษีของทรัมป์ด้วย ถือว่าลงเร็วและลงแรงมาก ๆ 

ขณะเดียวกัน ผลประกอบการไตรมาส  4/67 มีการตั้งรายการพิเศษอยู่หลายบริษัท ทำให้กำไรไตรมาส 4/67 อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท ถือว่าต่ำกว่าภาวะปกติเพราะตลาดหุ้นบ้านเรากำไรรายไตรมาสจะอยู่ราว 2.5 แสนล้านบาท และความเชื่อมั่นกองทุน LTF ที่ครบกำหนดอายุก็มาประจวบเหมาะพอดี ทำให้มีแรงเทขายออกมา จึงทำให้ประเด็นโดยรวมทั้งหมดกดดัชนีหุ้นไทยลงมาลึกมาก 

ทั้งนี้ในส่วนของ P/E ดัชนีหุ้นไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากที่ 12-13 เท่า อยู่ในระดับกลางไปจนถึงระดับต่ำ เมื่อเทียบกับ Emerging Markets หรือ EM ระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ โดย MSCI EM อยู่ในระดับ 14.2 เท่า ขณะที่หุ้นทั่วโลก P/E อยู่ในระดับ 17.8 เท่า ดัชนีหุ้น Nasdaq ซึ่ง P/E อยู่ที่  26.2 เท่า  แต่ทว่าเทียบกับตลาดภูมิภาคใกล้ ๆ บ้านเราอย่าง ตลาดหุ้นฮ่องกงอยู่ที่ P/E อยู่ที่ 11 เท่า ตลาดหุ้นเวียดนาม P/E อยู่ที่ 11 เท่าเช่นกัน 

"ต้องยอมรับว่า ดัชนีหุ้นปรับตัวลงมาลึกมาก ๆ หากเทียบจากยอดสุดจนมาถึงขณะนี้ปรับตัวลงมาที่ 37% หากเทียบกับหุ้นโลกปรับตัวลงมาจากยอดสุดปรับตัวลงมาแค่ 6% เท่านั้น ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงมาจากยอดที่ 8% ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น และตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงมา 13% ซึ่งไทยถือว่าลงมาลึกมาก"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า P/E บ้านเราอยู่ในระดับกลางถึงระดับต่ำ แต่ทว่า P/BV หรือ Price to Book Value Ratio มีความน่าสนใจ ต่ำสุดอยู่ที่ 1.15 เท่า และยังต่ำสุดเป็นอันดับต่ำ ๆ ของโลก แพ้แค่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เท่านั้นที่เดียว ซึ่ง P/BV อยู่ที่ 0.88 เท่า และในส่วนของ Dividend Yield หรืออัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดัชนีหุ้นไทยอยู่ 4.3% แพ้แค่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเท่านั้น ที่ Dividend Yield อยู่ที่ 5.4% 

โดยมองว่า ในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ทรัมป์รับตำแหน่งกับนโยบายทางภาษี ดัชนีหุ้นไทยได้ตอบรับไปพอสมควรปรับลดลงมากว่า 400 จุด และเมื่อไปดูข้อมูลในอดีตตลาดหุ้นไทยมี P/BV และ Dividend Yield  ในระดับนี้ มักจะชะเริ่มชะลอการปรับตัวลดลงของดัชนี เป็นช่วงเดียวกันกับตอนโควิดและซับไพรม์ และจะผันผวนไปอีกสักระยะเวลาอีก 3 เดือน และจะปรับตัวลงน้อยลง และจะค่อย  ๆ ขยับขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า 

"แม้ว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามาเต็มไปหมด แต่ในมุม Valuation เมื่อเทียบกับโลกถือว่า ถูกเมื่อเทียบกับ P/BV  และ Dividend ในระหว่างนี้ถือเป็นจังหวะที่น่าสะสม แต่ทว่านโยบายทรัมป์ก็ยังเป็นความเสี่ยงที่ยังต้องเฝ้าจับตา ว่าผลลัพธ์สุดท้ายแล้วจะออกมาเป็นเช่นไรในวันที่ 2 เม.ย.นี้"

เทียบ 10 ตลาดหุ้นทั่วโลก ค่า P/E ใครแพงสุด?