20ปี10โครงการผลิตครู ปัญหา“คุณภาพ”ยังคงมีอยู่

20ปี10โครงการผลิตครู  ปัญหา“คุณภาพ”ยังคงมีอยู่

โครงการผลิตครู 10 โครงการในช่วงก่อนปฏิรูปการศึกษา 2542 จนถึงปัจจุบันมีเป้าหมายในการผลิตเดียวกัน คือ เพื่อพัฒนาคุณภาพครูอันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพเด็ก

ทว่าแต่ละครั้งของการเปิดรับครูในโครงการต่างๆ แม้จะมีการกำหนดเป้าหมายของจำนวนครูที่ตั้งไว้อย่างชัดเจน เมื่อถึงเวลาบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กลับพบว่ามีอัตราว่างเหลืออยู่ทุกปีอย่างโครงการครูคืนถิ่นที่มีการบรรจุไปก่อนหน้านี้ พบว่าปี 2562 มีตำแหน่งว่าง 5,253 อัตรา แต่มีครูที่ได้รับการบรรจุเพียง 2,681 อัตรา ผลของการบรรจุดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่า...กระบวนการผลิตครูเป็นเช่นใด? ทำไมถึงได้ครูไม่ครบตามเป้าหมาย?

157149335724

และปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่ถามถึงคุณภาพของเด็ก “ครู” จะกลายเป็นจำเลยของสังคม เพราะด้วยบทบาทหน้าที่ของครู ต้องเป็นผู้อบรมสั่งสอน ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กได้ดี มีคุณภาพ มีความรู้ เป็นคนดี คนเก่งของสังคม ทำให้ครูมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพเด็ก แต่การจะผลิตครูที่มีศักยภาพ และมีคุณภาพในการสอนเด็กได้ต้องผ่านกระบวนการผลิตครูจากสถาบันผลิตครู ทำให้รัฐบาลเกิดโครงการผลิตครูมากมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิต และพัฒนาครูของประเทศ

ว่ากันว่า โครงการผลิตครู แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงแรกโครงการเริ่มดำเนินการปฎิรูปการศึกษาในปี 2542 (เสร็จสิ้นโครงการไปแล้ว) โดยมีโครงการแสวงหาช้างเผือก โครงการโครงการเร่งรัดผลิตและพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาตรีสาขาวิชาคณิตศาสตร์ของประเทศไทย (รพค.)โครงการคุรุทายาท (ตชด.)ต่อมาโครงการเริ่มดำเนินการก่อนการปฎิรูปการศึกษาในปี2542 (ปัจจุบันยังมีโครงการอยู่) ได้แก่ โครงการเพชรในตม และโครงการผลิตครูที่มีความรู้ความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์(สควค.) 

157149329421

ช่วงที่สาม โครงการดำเนินการเมื่อมีการปฎิรูปการศึกษาในปี 2542 ได้แก่ โครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5ปี) โครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่/มืออาชีพ โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เล่าว่าโครงการผลิตครูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีเป้าหมายหลัก เพื่อต้องการครูคุณภาพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู และรับประกันการมีงานทำ กลับไปทำงานในท้องถิ่นบ้านเกิด หรือในพื้นที่ห่างไกล แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนที่สมัครเรียนครูแล้วจะเข้าโครงการต่างๆ ได้ทันที เพราะโครงการส่วนใหญ่จะมีเกณฑ์ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนครูในสถาบันแต่ละแห่ง  

เมื่อได้เข้าเรียนในโครงการแล้ว เด็กต้องได้รับการฝึกฝน ฝึกปฏิบัติความเป็นครูอย่างเข้มข้น เมื่อเด็กกลุ่มนี้จบออกมาเป็นครูต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู สอนเก่ง ถ่ายทอดเก่ง คิดบทเรียน กิจกรรม เป็นครูที่ดี สอนเด็กให้มีคุณภาพ

157149329485

ทุกโครงการจะคัดเลือกเด็กที่มีความรู้ เป็นเด็กดี เด็กเก่งมาเรียนในระบบการผลิตครู เป็นการจำกัดจำนวนรับที่มีคุณภาพในสถาบันการผลิตที่มีคุณภาพ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้สมัคร ขณะเดียวกันจะคัดเลือกสถาบันการผลิตครูเพื่อเข้าร่วมการผลิต ซึ่งความเป็นจริงต่อให้เด็กผ่านหลักสูตรของการเรียนการสอน กระบวนการผลิตครูตามหลักเกณฑ์ กรอบมาตรฐานชัดเจน”รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าว

แต่ต้องยอมรับว่า สถาบันการผลิตครูที่มีสาขามากกว่า 14 สาขา มีคณะ สถาบันที่เปิดสอนกว่า 50 แห่งแตกต่างกัน ดังนั้นแม้ว่านิสิตนักศึกษาวิชาชีพครูผ่านกระบวนการผลิตแล้ว ก็มีบางมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถผลิตครูได้ตรงกับคุณสมบัติ หลักเกณฑ์กำหนด เมื่อจะบรรจุหรือแต่งตั้งครู จึงไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ปัจจุบันมีหลายโครงการที่ดูท่าว่าจะไม่ได้ไปต่อ อาทิ โครงการเพชรในตม  ขณะที่โครงการผุดใหม่ อย่าง โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ก็ไม่ได้เปิดกว้างให้ทุกสถาบันการผลิตครูเข้าร่วม รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ อธิบายต่อว่าสถาบันการผลิต ถือเป็นหัวใจหลักในโครงการผลิตครูแต่ทางปฏิบัติสถาบันการผลิตครูมีปัญหา ฉะนั้นการผลิตครูให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 

157149329241

หากจะผลิตครูให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มหาวิทยาลัยควรดำเนินการใน 4 กระบวนการ ดังต่อไปนี้ 1.กระบวนการรับเข้ามาเป็นครู ควรกำหนดเกณฑ์ในการรับ เช่น การสอบวัดแววความเป็นครู วัดความรู้ในแต่ละสาขาวิชา ต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือ 2.75 รวมถึงต้องมีการสอบสัมภาษณ์ ดูบุคลิกท่าทางว่าเหมาะสมกับความเป็นครูหรือไม่ เด็กมีความต้องการ รักในอาชีพครูหรือไม่ เป็นต้น

2.กระบวนการผลิตครู ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของครุสภา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด รวมถึงหลักเกณฑ์ในแต่ละโครงการ ต้องมีหลักสูตรที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีอาจารย์ในชั้นเรียน 1:25 คน และอาจารย์ตรงตามวุฒิ ต้องมีความรู้ความสามารถ ต้องมีครูของครูที่เข้าใจนิสิตนักศึกษา เวลานิสิตนักศึกษาไปฝึกสอนจะได้เข้าใจเด็ก ต้องให้คำแนะนำเด็กได้ เป็นต้น รวมถึงต้องมีหอพัก เพราะการฝึกให้นิสิตนักศึกษาเป็นครูที่ดี มีจิตวิญญาณความเป็นครู ฝึกปฏิบัติในชั้นเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องลงไปถึงการใช้ชีวิต พฤติกรรมของคนที่จะเป็นครู ครูต้องไม่ใช้การสอนเป็นเครื่องมือในการหารายได้ 

3.กระบวนการพัฒนาอาจารย์ ครูของครูให้มีความรู้ใหม่ๆ มีกระบวนการสอนที่เข้าใจในแต่ละพื้นที่ที่นิสิตนักศึกษาต้องไปฝึกสอน และ 4.กระบวนการติดตามประเมินผลการสอนของนิสิตนักศึกษา ไม่ว่านิสิตนักศึกษาจบออกไปเป็นครูที่ไหน อย่างน้อย 2 ปี ต้องติดตามประเมินการสอนของนิสิตนักศึกษาครูเหล่านี้ เพื่อจะได้รู้ว่าครูเหล่านี้กำลังเผชิญอะไร และต้องได้รับการเพิ่มเติมทักษะด้านไหน อีกทั้ง ยังทำให้ครูรุ่นใหม่ได้มีไฟในการสอน เพราะมีครูของครูคอยช่วยเหลือ

157149335711

“ครู เป็นต้นทุนความฉลาดของเด็ก ดังนั้น กว่าจะได้คนมาเป็นครู ต้องมีกระบวนการที่เข้มข้น ต้องเริ่มตั้งแต่นำเด็กเข้ามา ผ่านการอบรม ฝึกปฏิบัติ สร้างจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งการสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูนั้นสำคัญอย่างมาก เพราะครูไม่ได้ทำหน้าที่เพียงสอน ให้ความรู้เท่านั้น แต่ต้องช่วยอบรมบ่มเพาะให้คนๆ หนึ่งเป็นคนดี คนเก่ง และรักในอาชีพ มีจิตวิญญาณความเป็นครูในการช่วยสร้างคุณภาพของเด็ก ซึ่งครูจะเป็นครูคุณภาพได้นั้น ล้วนเป็นหน้าที่ของสถาบันการผลิตครูต้องพึ่งพัฒนาหลักสูตร จัดกระบวนการเรียนการสอนให้ครูออกไปเป็นครูที่ดี สมบูรณ์แบบ เป็นครูที่ทำเพื่อเด็กทุกคนจริงๆ"รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย