ปูดวางพันล้านแลกล้มแบน3สารพิษ

ปูดวางพันล้านแลกล้มแบน3สารพิษ

“มนัญญา” ลุ้น 22 ต.ค.นี้ แบน 3 สารพิษ แฉเงินวงการสารเคมีทำเงินหล่นหลักพันล้าน หากรับจริงเรื่องเงียบแล้ว “อนุทิน” ชวนแต่งขาวร่วมต้าน “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” เตรียมเคลื่อนค้านแบนพาราควอต

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในวันที่22ต.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ในวาระพิจารณาแบน3สารวัตถุอันตรายทางการเกษตร พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต ซึ่งตรงกับวันประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยหลังจากเสร็จสิ้นประชุมครม.แล้วตนอาจจะไปติดตามผลมติจากที่ประชุมคก.วัตถุอันตราย ว่าจะมีมติอย่างไร หากคณะกรรมการฯยังประชุมไม่จบวาระการแบนสาร

“ต้องลุ้นระทึกนาทีต่อนาที เพราะทุกเรื่องที่ทำส่งไปสุดมือพี่ ฝั่งกระทรวงสาธารณสุขก็ทำเต็มที่ แต่จะได้เห็นมติการแบน3สารหรือไม่ยังตอบไม่ได้ แต่เมื่อทำมาถึงขนาดนี้น่าจะมีความหวัง 90% อย่างไรก็ตามขอความกรุณาปราณี จากคณะกรรมการฯขอให้เห็นใจคนเจ็บ คนป่วย และอย่าให้คนไทย ต้องมาเจ็บป่วยไปมากกว่านี้เลย”น.ส.มนัญญา กล่าว

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ได้สั่งให้กรมวิชาการเกษตร นำบัญชีพืชสมุนไพรไทย13ชนิด ที่มีคุณสมบัติเด่นสามารถนำมาผสมทำสูตรกำจัดวัชพืช แมลงโรคพืชต่างๆ และสูตรทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพของโครงการหลวงทั่วประเทศ ให้เข้าสู่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเพื่อสามารถจำหน่ายได้ เพราะที่ผ่านมาทำได้ยาก

ทั้งนี้ตนจะเดินหน้าสนับสนุนปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพต่างๆที่มีความปลอดภัยโดยคนไทยคิดค้นได้เองให้เข้าสู่การรับรองมาตรฐานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้สั่งให้ระงับการอบรมเกษตรกรที่ใช้สารเคมีไว้ก่อน แม้กฏกระทรวง5ฉบับ จำกัดการใช้3สาร โดยมีผลบังคับใช้วันนี้(20ต.ค.)เพื่อรอดูมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่22 ต.ค.

น.ส.มนัญญา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามข่าวที่มีเจ้าหน้ากรมวิชาการเกษตร ไปตรวจสอบโรงงานของนักวิชาการอิสระที่คิดค้นจุลินทรีย์ กำจัดวัชพืช สามารถทดแทน สารพาราควอต แล้วหงุดหงิด ทั้งนี้ที่ได้ผลดีมานานแล้วจนต่างประเทศหลายประเทศนำไปใช้ แต่ที่ผ่านมายื่นขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร กลับไม่อนุญาต ซึ่งวันที่24 ต.ค.นี้ จะเชิญมาคุยหารือกันเพื่อร่วมกันศึกษาจุลินทรีย์ดังกล่าวทดแทนสารเคมีและใช้ทำเกษตรปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มเกษตรกรหนุนใช้3สารเคมี โจมตีการแบนสารเป็นทฤษฏีสมคบคิดเพราะมีนักการเมือง เจ้าสัว ได้ผลประโยชน์จากนำเข้าสารตัวใหม่ น.ส.มนัญญา กล่าวยืนยันว่าไม่ใช่อาชีพ และไม่เคยมีผลประโยชน์ทั้งปูมหน้าปูมหลัง มาดูได้ ไม่เคยคิดทำร้ายใคร ถ้ามีเรื่องผลประโยชน์เรื่องก็เงียบไปแล้ว เงินพวกนี้ทำหล่นทีเป็นพันๆล้าน และให้มาสืบตรงไหนก็ได้ หากไปรับมาจริงต้องเจอแล้ว ตนไม่ใช่นักค้ายา

ส่วนการหาสารทดแทนเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร และสารเคมี ยังมีอีกเป็นร้อยชนิดในท้องตลาดที่เกษตรกร เลือกใช้ได้โดยต้นทุนไม่สูงอย่างที่พูดกัน จริงๆเกษตรกรมีจำนวนมากได้ปรับตัวทำเกษตรปลอดภัยกันก่อนหน้านี้แล้ว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว “อนุทิน ชาญวีรกูล”เป็นคลิปวิดีโอความยาว 3.30 นาที ปลุกพลังคนไทยร่วมส่งเสียงถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย จำนวน 29 คน ให้มีมติแบน 3 สารพิษอันตราย ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และไกลโฟเซต พร้อมเรียกร้องให้คนไทยช่วยกันแชร์คลิปวิดิโอดังกล่าวในห้วงสถานการณ์โค้งสุดท้าย 3 สารเคมีอันตรายจะถูกแบนหรือไม่

นอกจากนี้ ยังเชิญชวนประชาชนและตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบน 686 องค์กร สวมเสื้อสีขาวร่วมแสดงจุดยืนกับกระทรวงสาธารณสุขในเวทีดังกล่าว “หยุดใช้ หยุดขาย หยุดตาย” ในวันที่ 21 ต.ค. เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

ผู้สื่อข่าว รายงานว่าวันนนี้(21ตค.)สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย (อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ผักและผลไม้) จะเปิดแถลงข่าว โหมโรง รวมพลังเกษตรกรไทย คัดค้านการแบน 3 สาร คือ สารคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเสต โดยระบุว่าจะมีการเปิดหลักฐานสำคัญคัดค้าน โดยระบุว่า จะมีการประกาศเจตนารมณ์ของเกษตรกรทั่วไทย ในการ แบนพรรคการเมือง โดยงานจะจัด เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันนักวิชาการ 2คน คือผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ และรศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ ได้เผยแพร่บทความเรื่องสงครามสารพิษรักรบไทยจะสู้ได้ไหม โดยระบุว่าสารพิษคือสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของโรคมะเร็ง คนไทยตายจากโรคมะเร็ง เป็นอันดับหนึ่ง ต่อเนื่องมามากกว่า 15 ปีแล้ว แต่ละปีมีคนเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ 120,000 คน เสียชีวิต 80,000 คน หรือคิดเป็นเสียชีวิต ชั่วโมงละ 9 คน เท่ากับเครื่องบินที่บรรทุกผู้โดยสารลำละ 300 คน ตกปีละ 266 ลำ

ทั้งนี้ยังไม่นับสารพัดโรคร้ายอื่นๆ เช่น โรคทางสมอง โรคระบบต่อมไร้ท่อ โรคระบบภูมิคุ้มกัน โรคเนื้อเน่า สร้างความทุกข์ทรมานให้กับครอบครัวคนไทยเหลือคณานับ ค่ายารักษามะเร็งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางตัวสูงถึงปีละ 1,500,000 บาท ระหว่างปี พ.ศ.2559-2561 มีการเบิกจ่ายค่ารักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ารับรักษาอย่างต่อเนื่อง 4,117,504 ครั้ง มีการชดเชยค่ารักษากว่า 26,679 ล้านบาท

“สารพิษทำให้รกของมารดาทำงานผิดปกติ ทำให้แท้งง่าย สารพิษจากมารดาไหลสู่เด็กทารก ก่อให้เกิดความพิการ เป็นโรคมะเร็ง โรคออติสติก สมาธิสั้น โรคระบบต่อมไร้ท่อหลายชนิด หัวสมองเล็ก มีการคาดการณ์ว่า สถิติเด็กเป็นโรคออติสติก จะสูงถึง ร้อยละ 50 หรือ เกิดมา 2 คน เป็นโรคออติสติก 1 คน ภายในปี ค.ศ. 2025 ดูได้จากสถิติการนำเข้าสารพิษ ที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นปีละ 200 ล้านกิโลกรัมไปแล้ว นั้นคือคนไทย 66 ล้านคนแบกรับไป เฉลี่ยคนละ 3 กิโลกรัมไปทุกๆปี สังคมไทยจึงเต็มไปด้วยคนขี้โรค”

โดยปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ดูจากการมีมติของกรรมการวัตถุอันตรายหลายครั้ง ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ต้องการหรือไม่สามารถปกป้องคุ้มครองสุขภาพคนไทยได้ ทั้งๆที่มีอำนาจเต็มในมือ

ข้อมูลจากThai-PAN Thailand Pesticide Alert Network ระบุว่า พาราควอต ชื่อการค้า กรัมม็อกโซน และอื่นๆ ผู้ผลิตรายใหญ่ ซินเจนทา บริษัทที่ไม่สนับสนุนการใช้ บริษัทโคล ยูติการใช้พาราควอดในพื้นที่เกษตรของบริษัทในเครือทั่วโลกตั้งแต่ปี 2007 บริษัทซิกิต้า ซึ่งป็นคู่แข่งของโดล ยุติการใช้ในพื้นที่ปลูกกล้วยตั้งแต่ปี 2009 ไซม์คาร์บีแพลนเตชั่น โกลเด้นอะกริรีชอร์สเสส และบริษัทปาลยักษ์ใหญ่ของโลกเกือบทั้งหมด บริษัทเจียโต๋ประกาศยุติการจำหน่ายตั้งแต่ปี 2561บริษัทไทยฮาสนับสนุนการแบนพาราควอต บริษัทมิตรผล ไม่สนับสนุนการใช้ในพื้นที่อ้อย

ขณะที่ คลอร์ไพริฟอส ชื่อการค้าลอร์สแบน และอื่นๆ ผู้ผลิตราย์ใหญ่ ดาวอะโกรซายส์ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่ตกค้างในผักผลไม้มากที่สุด ส่วนไกลโฟเซต ชื่อการค้า: ราวด์อัพ และอื่นๆ ผู้ผลิตรายใหญ่ : มอนซานโต้-ไบเออร์ศาลตัดสินให้บริษัทชดใช้ กรณีไกลโฟเซตก่อมะเร็ง ศาลในรัฐแคลิฟอร์เนียตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ใช้ไกลโฟเซต และต่อมาพบว่าป่วยด้วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง NHL (non-Hodgkin's lymphoma) ดังนี้ 1. นาย DewayneLee Johnson 78 ล้านเหรียญ 2. นาย Edwin Hardeman 80 ล้านเหรียญ 3. นาง Alva Pilliod และนาย Alberta Pilliod เป็นเงิน86.7 ล้านเหรียญ

โดยขณะนี้มีคดีที่ฟ้องร้องบริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ ร่วมกันมากกว่า 10,000 คดี ที่ยังรอการพิจารณา