กบง.เร่งจัดทำหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน ไฟเขียว กฟผ. นำเข้า LNG
กบง. สั่งการให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ กกพ. จัดทำหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน โดยเร่ง Quick win ปลายปี 62 ยังไฟเขียว กฟผ. นำเข้า LNG ลำแรก ธ.ค. 62 และมีมติให้แนวทางแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่าที่ประชุมกบง. ได้หารือรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติที่ กพช. ได้มอบหมายตั้งแต่ 11 กันยายน 2562 โดยเบื้องต้นกระทรวงพลังงานพิจารณาไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชนหรือบริษัทลูกของการไฟฟ้าทีมีความพร้อมอยู่แล้ว 2) เป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงปลายสายหรือไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โดยอาจจะพิจารณานำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้าหรือรูปแบบ CSR จากภาคเอกชนต่างๆ และ 3) เป็นการลงทุนเพื่อนำของเสียมาจัดการให้เป็นประโยชน์เชิงพลังงาน เช่น ขยะ โดยมอบหมายกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และคณะกรรมการ กกพ. ร่วมกันจัดทำรายรูปแบบรายละเอียดมาเสนอ กบง. อีกครั้ง ภายในเดือน พ.ย. หรือ ธ.ค. 62
ทั้งนี้เนื่องจากมีกระแสตอบรับดี ประกอบกับเป็นการนำเงินกระจายลงสู่ชุมชน ได้พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยเร็ว รวมทั้งการจัดการเรื่องการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะมีคณะอนุกรรมการภายใต้ กบง. มาช่วยพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้นไป
พร้อมนี้ กบง. ได้รับทราบแนวทางการทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามที่ กบง. เสนอ ซึ่งเป็นเรื่องการดูช่วงเวลาและปริมาณการนำเข้าที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางให้ กฟผ. ดำเนินการต่อไป โดยจากข้อมูลที่ได้รับ จึงสรุปมีแนวทางเลือกปริมาณการนำเข้า 2 ลำเรือ ลำเรือละ 65,000 ตัน และช่วงเวลาการนำเข้าที่เหมาะสมลำแรกประมาณเดือนธันวาคม 2562 และลำที่ 2 ประมาณเดือนเมษายน 2563 ทั้งนี้ จากข้อมูลราคา LNG แบบ Spot ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 จะยังไม่สูงมากนัก และให้ กฟผ. และ กกพ. นำผลการนำเข้า LNG ลำแรกมารายงาน กบง. เพื่อจะได้ทราบผลกระทบจากการดำเนินการ รวมถึงการเปรียบเทียบต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด
นอกจากนี้ กบง. ได้พิจารณาแนวทางปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล โดยให้ SPP ชีวมวล สามารถสมัครใจเลือกอยู่ในรูปแบบสัญญาเดิมต่อไปตามเงื่อนไขเดิม หรือให้สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็น FiT ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งได้คำนึงถึงผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวม ทั้งรวมไปถึงผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นกับ SPP ชีวมวลแบบ FiT (โครงการ SPP Hybrid Firm) ที่ได้มีการประกาศรับซื้อและดำเนินคัดเลือกเมื่อปี 2560 โดยวิธี Competitive Bidding ควบคู่กันไปด้วยแล้ว