กยท.จ่อตั้งบริษัทลูกรับซื้อยาง แก้ราคาตก เสนอบอร์ด พ.ย.นี้

กยท.จ่อตั้งบริษัทลูกรับซื้อยาง  แก้ราคาตก เสนอบอร์ด พ.ย.นี้

กยท.เล็งจับมือเกษตรกรตั้งบริษัทลูก รับมืราคายางผันผวน เตรียมเสนอบอร์ด พ.ย.นี้ พร้อมเดินหน้าสร้างโรงงาน ใหม่ ยกระดับ6 โรงงานเดิม 

     นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย      เปิดเผยว่า กยท. เตรียมจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกับสถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนรับมือปัญหาราคายางพาราผันผวนซึ่งขณะนี้ได้จัดทำTOR เสร็จแล้ว และจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด)เพื่อพิจารณาภายในเดือนพ.ย.นี้

      หากได้รับความเห็นชอบ จะเร่งจดทะเบียนบริษัทให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งจัดตั้งโรงงานในขั้นตอนต่อไป รวมทั้งต้องพัฒนาโรงงานผลิตยางของ กยท. ที่มีอยู่ทั้ง 6 แห่ง ให้มีศักยภาพ พร้อมรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาโรงงานของ กยท. ได้รับการรับรองมาตรฐานISO9001:2015 ซึ่งจะสามารถรองรับความต้องการของตลาดที่ กยท. ได้เปิดตลาดไว้ได้มากขึ้น

       

       นอกจากนี้การประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 ส.ค. 2562 เบื้องต้นมีเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 1,711,252 ราย แยกเป็นเจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,412,017 ราย และคนกรีดยาง 299,235 ราย พื้นที่ 17,201,391 ไร่ โดยให้มีการประกันรายได้ รายละไม่เกิน 25 ไร่ ที่ปริมาณผลผลิตยาง (ยางแห้ง) 240 กก./ไร่/ปี หรือ 20 กก.ต่อไร่ต่อเดือน กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ต.ค. 2562–มี.ค. 2563) แบ่งตามประเภทยาง ดังนี้

       ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (DRC100%) 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC50%) 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยอ้างอิงจากราคากลางที่ประกาศทุก 2 เดือน และจ่ายเงินประกันรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการรอบแรก ในวันที่ 1-15 พ.บ. 2562 โอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง งบประมาณในโครงการรวมทั้งสิ้น 24,278,626,534 บาท

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-สวนยางสะเทือนหลังยักษ์รับซื้อจีนปิดกิจการ

-กยท.ยกระดับโรงงาน 6 แห่ง สู่มาตรฐาน ISO

-ราคายางพารา (9 ต.ค.62)

-ราคายางพารา (25 ก.ย.62)

-ราคายางพารา (24 ก.ย.62)