ผู้ประกอบการยุค '2020' ปรับทัพเพื่อรอโอกาส

ผู้ประกอบการยุค '2020' ปรับทัพเพื่อรอโอกาส

ใกล้เข้าสู่ปี 2020 ผู้ประกอบการต่างมองหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจ แน่นอนว่าปัจจัยภายในเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถควบคุมได้ง่าย แต่ปัจจัยภายนอก เช่น เศรษฐกิจโลกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้น ผู้ประกอบการคงต้องติดตามและปรับแผนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

เวลาผ่านไปไม่ทันไรก็เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 แล้ว โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลายท่านคงได้ยินข่าวเศรษฐกิจในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก

โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าลงต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ผมจะชวนท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้ประกอบการ หันมามองความเสี่ยงและบริบทใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยผมจะขอเล่าผ่านตัวเลขปี "2-0-2-0" ดังนี้ครับ

  • "2" ต่ำ : ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ 

เศรษฐกิจโลกปี 2020 ที่ยังมีแนวโน้มไม่สดใสนัก ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ต้องกลับมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำอีกครั้งเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ขณะเดียวกันหลายประเทศก็เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อต่ำจากเศรษฐกิจที่ซบเซาและการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ทำให้หลายอุตสาหกรรมยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมกลับกันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะใช้ประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงในการลงทุนพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาที่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต

  • "0" % : ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมดูจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี 2020 ที่เห็นได้ชัดคือ ในวันที่ 1 มกราคม 2020 องค์การทางทะเลระหว่างประเทศจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ IMO 2020 ที่ให้เรือทั่วโลกเปลี่ยนการใช้น้ำมันเตากำมะถันสูง 5% มาเป็นไม่เกิน 0.5% เพื่อลดมลพิษ ซึ่งผมเชื่อว่าหลังจากนี้องค์กรกำกับดูแลมาตรฐานอุตสาหกรรมอื่นๆ จะออกมาตรการลักษณะนี้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในส่วนของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 จะมีการประกาศใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศแทน B7 รวมถึงห้างร้านขนาดใหญ่ก็จะงดแจกถุงพลาสติก ปัจจัยดังกล่าวในระยะสั้นอาจทำให้บางธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจใดปรับตัวได้ก่อนคู่แข่งและนำมาสร้างจุดขายเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาวตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

157200130217

  • "2" สูง : ความเสี่ยงและความผันผวน 

ความเสี่ยงจากสงครามการค้าจะยังคงอยู่ต่อไปในปี 2020 และอาจรุนแรงขึ้น หลังจากล่าสุด WTO ตัดสินกรณี EU อุดหนุนบริษัทแอร์บัสว่ามิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้สหรัฐฯ มีสิทธิ์ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจาก EU ซึ่งหากพิจารณาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปพบว่ามีมูลค่ากว่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่ามูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันจริงจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในส่วนความผันผวนคงจะหนีไม่พ้นเรื่องค่าเงิน โดยเฉพาะเงินบาทที่ยังเป็นเป้าหมายของเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งอาจกดดันรายได้ของผู้ส่งออกบางส่วน อย่างไรก็ตาม กระแสกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นและเงินบาทแข็งค่าถือเป็นจังหวะที่ดีของผู้ประกอบการในการขยายการลงทุนไปต่างประเทศด้วยต้นทุนที่ถูกลงเพื่อเลี่ยงกำแพงภาษี และแสวงหาตลาดใหม่ๆ

  • "0" % : เงินสด 

สังคมไร้เงินสดเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น อย่างเช่นญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้เงินสดมากที่สุดในโลก ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการกระตุ้นให้ลดการใช้เงินสดด้วยการคืนเงิน 5% ให้แก่ผู้ที่ใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีการขายจาก 8% เป็น 10% หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง กรณีมาตรการชิมช้อปใช้ที่ภาครัฐนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งผู้บริโภคและร้านค้าที่ร่วมโครงการต้องลงทะเบียนเพื่อใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) ก่อน ทำให้มีการตื่นตัวในการใช้ E-wallet มากขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัดตลอดจนผู้สูงอายุ สะท้อนว่าผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องเตรียมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการชำระเงินและการขายให้พร้อม เพื่อรองรับโอกาสจากธุรกรรมไร้เงินสดที่จะมีมากขึ้นทั้งหน้าร้านและการค้าออนไลน์

จะเห็นได้ว่าปี 2020 ที่กำลังจะมาถึงแม้เต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ก็แฝงไปด้วยโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาตนเองเพื่อรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการกลับมาเดินเกมส์รุกอย่างเต็มกำลังอีกครั้ง

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK

** หมายเหตุ : เนื้อหาจากคอลัมน์ "รู้โลก รู้เรา" โดยพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา