น้าแอ๊ด คาราบาว ออกโรงหนุนรัฐบาล ยืดหยัดในการแบนสารพิษเกษตร

น้าแอ๊ด คาราบาว ออกโรงหนุนรัฐบาล ยืดหยัดในการแบนสารพิษเกษตร

แนะนำ ไม่ต้องแคร์ความสัมพันธ์ที่เอาเปรียบของอเมริกา

แอ๊ด คาราบาว หรือ ยืนยง โอภากุล ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คชื่นชมรัฐบาลที่ตัดสินใจแบนสารพิษร้ายเเรง พร้อมทั้งขอให้ยืนหยัดในการตัดสินใจในครั้งนี้ หลังจากที่สหรัฐอเมริกาส่งหนังสือถึงรัฐบาลขอให้ทบทวนการตัดสินใจ โดย น้าแอ๊ดกล่าวว่า ขอชื่นชมด้วยจิตคาราวะที่รัฐบาลตัดสินใจแบนสารพิษร้ายเเรงที่เป็นภัยต่อสุขภาพประชาชนทั้ง 3 ชนิดนี้ ถือว่าตัดสินใจได้ถูกต้อง แม่นยำ และอยู่บนผลประโยชน์ของชาติเเละประชาชนเป็นที่ตั้ง

"และขอให้ท่านเข้มเเข็งยืนหยัดต่อไปในเรื่องนี้ รวมถึงหาทางออกเรื่องกระท่อม กัญชง กัญชาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาติประชาชนด้วยเช่นกัน อย่าได้แคร์ความสัมพันธ์ที่เอาเปรียบของอเมริกาต่อเราเลย" น้าแอ๊ดกล่าว พร้อมถามเพิ่มเติมว่าไม่มีอเมริกาประเทศไทยก็อยู่ได้ใช่หรือไม่

น้าแอ๊ดยังโพสต์อีกว่า การแบนสารพิษฯ นั้นยากเย็น ส่วนหนึ่งเพราะอิทธิพลของสหรัฐฯ และบริษัทสารเคมีเกษตรก็เป็นต้นเหตุให้ยูเอ็นไปบังคับให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยออกกฏหมายกัญชาเป็นยาเสพติด และเป็นบริษัทที่ผลิตสารเคมีพิษกับเมล็ดพันธุ์ GMO ที่ทำให้ชาวไร่ชาวนาอเมริกันและอีกหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วยต้องตกเป็น"ทาสทางการผลิต" ทั้งนี้น้าแอ๊ดได้แนะนำคนให้ฟังผลงานเพลงชุด Monsanto year ของนีล ยัง เพื่อที่จะเข้าใจสถานการณ์

โดยก่อนหน้านี้ สถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึง พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายดอน ปรมัติวินัย รมว.ต่างประเทศ โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา(ยูเอสดีเอได้ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในการห้ามสารเคมีเกษตร 3 ชนิดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยยูเอสดีเอ คาดการณ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแบน 3 สาร ดังนี้ 

1.เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนสารเคมีทดแทนที่สูงขึ้นที่ 75,000-125,000 ล้านบาท ของราคาตลาดของไทยในปัจจุบัน
2.หากไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม เนื่องจากกลูโฟซิเนต มีแอมโมเนียมมีพิษมากกว่า ไกลโฟเซท แต่น้อยกว่าพาราควอต ทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นสำหรับการปราบวัชพืช ทำให้การควบคุม รวมกับการสูญเสียผลผลิตพืช คาดว่าจะสูงถึง 128,000 ล้านบาท
3.สิ่งสหรัฐฯกังวลมากที่สุด คือ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสหรัฐฯในตลาดไทย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล และองุ่น มูลค่าประมาณ 51,000 ล้านบาทจะต้องหยุดชะงักลงเพราะ ตามกฏองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หากประเทศคู่ค้ามีการแบนสารเคมีที่สหรัฐฯใช้อยู่ก็ไม่สามารถขายสินค้าหรือส่งออกสินค้านั้นได้ เพราะสหรัฐฯยังใช้สารไกลโฟเซตอยู่


ทั้งนี้ ในค่าใช้จ่ายดังกล่าว ยังไม่ได้รวมไปถึงผลกระทบที่ตามมาของ ผู้ผลิตอาหาร เช่น อุตสาหกรรมเบเกอรี่และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พึ่งพาข้าวสาลีที่นำเข้า 100% เพื่อมาดำเนินธุรกิจมูลค่า 40,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากจดหมายฉบับข้างต้น ทางสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยยังได้แนบเอกสารจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีของไทยด้วยว่า การแบนสารไกลโฟเซต โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลือง และข้าวสาลี ของไทยจึงหวังว่าประเทศไทยจะพิจารณาความกังวลนี้ เพราะไกลโฟเซทเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและศึกษาอย่างจริงจังในโลก