'สรรพสามิต'ลุยปราบ'เหล้า-ยาดอง'เถื่อน

'สรรพสามิต'ลุยปราบ'เหล้า-ยาดอง'เถื่อน

"อุตตม"สั่งสรรพสามิตดำเนินมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบผลิตสุราเถื่อน หลังเกิดกรณีชาวบ้านซื้อยาดองผมคางคกมาแล้วเสียชีวิต เผยปี 62 มียอดปราบปรามผู้ผลิตยาดองเถื่อนแล้วกว่า 4พันราย คิดเป็นจำนวน 1.3 หมื่นลิตร

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า กรมฯได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เร่งปราบปรามการผลิตเหล้ายาดองที่ผิดกฎหมาย หลังจากเกิดเหตุกรณีชาวบ้านในตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลชลบุรีหลังมีอาการแน่นหน้าอก อาเจียนจากการซื้อเหล้ายาดองที่มีส่วนผสมของสมุนไพรรากสามสิบ ผสมคางคกและเหล้าขาว มาบริโภคเป็นเหตุให้เสียชีวิตจำนวน 3 ราย
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวกรมฯได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ชลบุรี 1 แล้ว พบว่าในสถานที่ทำเหล้ายาดองดังกล่าว พบทั้ง ถังแกลลอนเปล่าชนิดเมทิลแอลกอฮอล์และชนิดเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการหาข้อเท็จจริงเพื่อสรุปสาเหตุการเสียชีวิตและแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้กระทำผิดต่อไป
กรมฯขอเรียนให้ทราบว่า การทำเหล้ายาดองเพื่อขายดังกล่าว เป็นการลักลอบทำโดยชาวบ้าน ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กรมฯไม่มีการอนุญาตให้ทำเหล้ายาดองเพื่อขายได้ อย่างไรก็ตาม กรมฯควบคุมการผลิตสุราโดยออกใบอนุญาตผลิต รวมทั้ง มีการควบคุมการผลิต การจำหน่ายและการตรวจสอบคุณภาพสุราที่ได้มาตรฐานสุราตามที่กรมฯกำหนด ซึ่งกรมฯจะมีการตรวจสอบตั้งแต่การใช้วัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต และตรวจสอบคุณภาพสุราก่อนนำออกจากโรงอุตสาหกรรม และตรวจสอบการใช้ฉลากและภาชนะตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตสุราและการนำสุราออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวิเคราะห์ในขั้นตอนการผลิต
กรณีเหล้ายาดองตามข่าวถือเป็นกรณีตัวอย่างของการดื่มสุราที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 สามารถแบ่งลักษณะความผิดได้ 2 กรณี ดังนี้ 
กรณีที่ 1.การขายเหล้ายาดองที่ทำจากสุราที่เสียภาษีแล้ว จะผิดกฎหมายของกรมฯ ตามมาตรา 155 (ไม่มีใบอนุญาตขาย) มาตรา 157 (เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุรา) และมาตรา 158 (เปลี่ยนแปลงสุรา) ซึ่งมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือ กรณีที่ 2.การขายเหล้ายาดองที่ทำจากสุราที่ไม่ได้เสียภาษี จะผิดกฎหมายกรมฯตามมาตรา 191 (ขายสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต) และมาตรา 192 (ซื้อหรือครอบครองสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต) ซึ่งมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 50,000 บาท 
อย่างไรก็ดี กรณีเหล้ายาดองตามที่เป็นข่าวนั้น หากตรวจสอบและพบว่า เป็นการผลิตจากเมทิลแอลกอฮอล์ จะไม่ถือว่า เป็นการกระทำผิดตามกฎหมายของกรมฯเนื่องจาก ไม่ได้อยู่ในพิกัดภาษีสินค้าสุราของกรมฯ สำหรับเหล้ายาดองที่ผลิตตามสูตรตำหรับไทต่างๆและได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสามารถขายได้ไม่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ จากสถิติจำนวนของกลางของกรมสรรพสามิต พบว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมฯ ยึดเหล้ายาดองเป็นของกลางจำนวนกว่า 1.3 หมื่นลิตร คิดเป็นสัดส่วน 0.005% ของปริมาณสุราที่เสียภาษีทั้งหมด จำนวน 670 ล้านลิตร และ จับกุมผู้กระทำผิดได้จำนวนกว่า 4 พันราย
"จะเห็นได้ว่า แม้เหล้ายาดองจะเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปริมาณสุราที่เสียภาษีและได้รับการตรวจสอบคุณภาพอย่างถูกต้อง ก็ยังพบว่า ยังคงมีผู้ต้องการผลิตและบริโภคเหล้ายาดองอยู่ โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยจากการดื่มสุราที่ไม่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพ จนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้"  
กรมฯขอเรียนว่า การบริโภคสุราที่มิได้รับอนุญาตให้ผลิตจากกรมสรรพสามิตจะส่งผลต่อสุขภาพอาจเกิดอันตรายกับชีวิตของผู้บริโภคได้ จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคเหล้ายาดองที่จำหน่ายตามซุ้มยาดองหรือแหล่งอื่นๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการบริโภคสุราที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต 
 หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายเหล้ายาดอง หรือสุราอื่นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึง สินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมฯหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th ซึ่งกรมฯจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับและจะมอบสินบนนำจับให้ ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว