รมช.กระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ กำชับเร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 ตุลาคม 2562 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน และ อ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร บรรยายสรุปภาพรวมของการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ประสบภัยแล้งว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนและผลการปฏิบัติการฝนหลวง ประจําปี 2562 โดยมีภารกิจในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจําปี 2562
โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจําภาคทั้ง 5 ศูนย์ฯ ได้ดําเนินการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 20 ตุลาคม 2562 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จํานวนทั้งสิ้น 223 วัน โดยมีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฯ คิดเป็นร้อยละ 89.44 และขึ้นบินปฏิบัติงาน จํานวน 6,113 เที่ยวบิน
โดยมีผลการปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้ 1. จังหวัดที่มีการรายงานฝนตกรวม 59 จังหวัด 2. พื้นที่ประสบภัยแล้งที่ได้รับการช่วยเหลือ คิดเป็นร้อยละ 78.04 และ 3. มีการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ จํานวน 2,923.22 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จํานวน 43.21 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น ทําให้มีปริมาณน้ำสะสมทั้งหมด 2,966.43 ล้าน ลบ.ม.
ในปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จํานวน 11 หน่วยปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ ระยอง สุราษฎร์ธานี และสงขลา และ มีฐานเติมสารฝนหลวง จํานวน 3 ฐาน ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว บุรีรัมย์ และนครสวรรค์ มีอากาศยาน จํานวน 28 ลํา ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จํานวน 20 ลํา อากาศยานของกองทัพอากาศ จํานวน 7 ลํา และอากาศยานของกองทัพบก จํานวน 1 ลํา เพื่อเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำด้านการเกษตรในช่วงปลายฤดูฝน รวมทั้ง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน อ่างเก็บน้ำ จํานวน 20 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลําพระเพลิง เขื่อนลําตะคอง เขื่อนลําแชะ เขื่อนลํานางรอง เขื่อนมูลบน อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดํา อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม และอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง
ด้านร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้กำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย
ในภาพรวมของปัญหาภัยแล้งปีนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนแต่ละแห่ง แต่ละภูมิภาคมีปริมาณน้อย ได้มีการเตรียมการในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่จะมาถึง ซึ่งโครงการต่างที่ชลประทานกำกับดูแลอยู่ มีการขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาเตรียมพร้อมที่รองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะมาถึง ในส่วนของเกษตรกรมีความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ ทั้งนี้ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกับของทุกภาคส่วน ที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ในการเตรียมความพร้อม เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกร ซึ่งในเวลานี้ต้องพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรให้ใช้น้ำในปริมาณที่มีจำกัด ต้องช่วยกันรักษาแลละใช้น้ำอย่างประหยัดในการปลูกพืช โดยให้หันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย
สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากแม่แตง แม่งัด แม่กวง เนื่องจากกำหนดระยะเวลาจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค. 2564 ความคืบหน้ายังไม่ถึงจุดที่ 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง จากปัญหาในหลายเรื่องทั้งเรื่องความพร้อมของบริษัทผู้รับเหมา เรื่องเทคโนโลยี ที่ไม่มีความพร้อม ในส่วนนี้จะนำกลับไปนำเสนอรองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง