ทีมภาพยนตร์ไทยรุกตลาดเจแปน เพิ่มมูลค่า-คุณภาพสู่นานาชาติ
รายงานการขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยและที่เกี่ยวข้อง ประจำปี2562ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค.มีทั้งหมด312เรื่อง มีรายได้รวมกว่า2,879ล้านบาท
“อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย” อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ควบคู่กับการเผยแพร่วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของไทยได้เป็นอย่างดี เมื่อวันที่22 – 24ต.ค.2562 ณ Sunshine City Convention Center อิเคะบุคุโระ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และกรมการท่องเที่ยวกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ งานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติแห่งโตเกียว ประจำปี 2562 (TIFFCOM 2019)ในงานตลาดอุตสาหกรรมสารัตถะญี่ปุ่น (Japan Content Showcase 2019) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศและสร้างจุดยืนที่แข็งแกร่งในเวทีโลก
นายสมเกียรติ พันธรรม ผู้ตรวจราชการวธ.ในฐานะประธานฝ่ายไทยในกิจกรรมดังกล่าว เปิดเผยว่าวธ.มีภารกิจส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยซึ่งงานครั้งนี้ได้พยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยมีโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยน และจำหน่ายผลงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยมากขึ้น โดยปีนี้ มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 6 บริษัท
ได้แก่ 1.บริษัท นำภาพยนตร์ไทยและสารคดีไปจัดจำหน่าย 4 เรื่อง ได้แก่ Girls Don’t Cry, Real Me BNK48, Where We BelongและThibaan X BNK48 2.บริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด นำภาพยนตร์ไทยไปจัดจำหน่าย 4 เรื่อง ได้แก่The Lake,The Maid, The Only Mom และGravity of Love
3.บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด นำภาพยนตร์ไทยไปจัดจำหน่าย 7 เรื่อง ได้แก่Tee Shot: AriyaJutanugarn, Love and Run มิสเตอร์ดื้อ, Bikeman2, KhunPhaen Beginsขุนแผน, Heart Beats, My God!!FatherและNemesis 4.บริษัท เดอะมั๊งค์ สตูดิโอ จำกัด นำภาพยนตร์แอนิเมชันและซีรี่ย์แอนิเมชันสำหรับรายการโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ไปจัดจำหน่าย 5 เรื่อง ได้แก่ Service work for animation & VFX, Eggy Egg, F.B.I, Monkey Gangsters และX-Rabbits
5.บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำภาพยนตร์ไทยไปจัดจำหน่าย 2 เรื่อง ได้แก่ Home Stay, Home Sweet Home EP.2 และ6.บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด นำสารคดีและรายการโทรทัศน์ไปจัดจำหน่าย 3 เรื่อง ได้แก่Thailand’s Urban Wild สัตว์ป่วนเมือง, MyJungle’s Friends เพื่อนหนูอยู่ป่า และTasty Journey วัฒนธรรมยั่วน้ำลาย
“การมาร่วมงานครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้มีเวที เห็นศักยภาพของแต่ละประเทศอันนำไปสู่การแลกเปลี่ยน พัฒนาคุณภาพภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย เพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศ เพราะเทรนด์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี " นายสมเกียรติ กล่าว
ญี่ปุ่น มีศักยภาพด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ทั้งแอนิเมชัน เกม นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่าอยากให้ผู้ประกอบการไทยทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ เปิดโอกาสให้ตัวเองเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ทางวธ.และภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ได้เรียนรู้เทคนิคทั้งการทำภาพยนตร์ วีดิทัศน์ การขายงาน เทรนด์ภาพยนตร์ พัฒนาเนื้อหาให้เหมาะสมกับตลาดนานาชาติ เก็บเกี่ยวประสบการณ์และนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าและคุณภาพ ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยเติบโตในตลาดนานาชาติ
นายทรงพล วงษ์คนดี ตัวแทนจากบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด กล่าวว่าM PICTURES ซื้อภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับคนไทยและได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมาเป็นเวลา3 ปี แต่ปีนี้เป็นแรกที่ได้ทำภาพยนตร์ไทยมาขาย มาเปิดตลาดในญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ซึ่งตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และปีนี้การจัดงานทำให้ได้เห็นผลงานของแต่ละปีประเทศ เห็นความต้องการของแต่ละตลาด ดังนั้น การที่จะทำให้ภา่พยนตร์และวีดิทัศน์ไทยได้รับความนิยมจากตลาดนานาชาติ
นอกจากการสนับสนุนจากรัฐบาลในการให้เข้าร่วมตลาดต่างๆ แล้ว ยังต้องส่งเสริมเรื่องทุนด้วย เพราะเทรนด์ภาพยนตร์ค่อนข้างเปลี่ยนไว เมื่อก่อนจะเป็นตลาดวีดิโอ โรงภาพยนตร์ แต่ตอนนี้เป็นการเสพสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต การมีทุนมากจะทำให้ขยายการลงทุนและต่อยอดธุรกิจให้โตขึ้น ถ้าทุนน้อยก็อาจจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถือว่ารัฐบาลได้ให้สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากกว่าในอดีต ถือเป็นเรื่องที่ดี และควรมีการส่งเสริมต่อไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติแห่งโตเกียว (TIFFCOM2018) ปีที่ผ่านมา มีการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการของไทย มูลค่าการเจรจากว่า 150 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีผู้ประกอบการจากเอเชียให้ความสนใจผู้ประกอบการคอนเทนต์ไทยเป็นจำนวนมาก
นายฮิเดะโอ โมริ ตัวแทนจากบริษัท เดอะมั๊งค์ สตูดิโอ จำกัด กล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่ทางวธ. และรัฐบาลได้สนับสนุนภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการได้มีพื้นที่ มีเวทีในการนำเสนอขายผลงา่นของตนเองทั้งในตลาดอาเซียน เอเชียและตลาดโลก อีกช่องทางที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยและวีดิทัศน์เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนทุน โดยเฉพาะแอนิเมชัน เพื่อรองรับตลาดแอนิเมชันที่กำลังเติบโตในหลายประเทศ