องค์กรต้านโกงจี้ 4 หน่วย เปิดผลสอบ 'รถหรู' ผิดกม.
เลขาฯองค์กรณ์ต้านโกง ชี้รอบ 10 ปีนำเข้ารถหรูผิดกฎหมายจำนวนมาก แต่กระบวนการตรวจสอบล่าช้า-เอาผิดข้าราชการได้แค่ 1 ราย จี้ 4 หน่วยงานเปิดเผยผลดำเนินการ เร่งเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ
จากกรณีการตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์หรูซึ่งขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)อยู่ระหว่างการประสานกับทางประเทศอิตาลีเพื่อขอรายละเอียดการนำเข้ารถยนต์จำนวน686คัน
วานนี้(27ต.ค.) นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊คเกี่ยวกับคดีรถหรูเลี่ยงภาษีโดยระบุว่า รถหรูเลี่ยงภาษีกับความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของข้าราชการ ‘รถหรูเลี่ยงภาษี’ ขบวนการค้ารถยนต์ผิดกฎหมายที่ขยายตัวอย่างเปิดเผยมานานนับสิบปี จนทำให้คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นเศรษฐีมีเงินสกปรก ถึงแม้วันนี้เรื่องจะดูสงบลงแต่การสะสางปัญหา การเรียกคืนภาษีและเอาคนผิดมาลงโทษ ทั้งที่เป็นพ่อค้าและข้าราชการยังคงล่าช้าคาราคาซังอยู่
“ในยุคเฟื่องฟู เครือข่ายเหล่านี้สามารถฉ้อฉลหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ของหลายหน่วยงานทั้ง กรมศุลกากร กรมการขนส่งทางบก กรมสรรพสามิตและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ด้วยกลวิธีหลากหลายโดยมีข้าราชการจำนวนหนึ่งร่วมมือและรับสินบนตามที่ปรากฏเป็นข่าว”
นายมานะ ยังกล่าวว่า ในช่วงถูกตรวจสอบดำเนินคดี ทำให้มีหน่วยงานตรวจสอบเข้ามาเพิ่มอีก คือ ดีเอสไอ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช. )
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) และเมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าแต่ละฝ่ายต่างยึดถือกฎหมาย ตีความและใช้อำนาจดำเนินการต่างกันไป จนดูเหมือนต่างคนต่างเดินหรือขัดแย้งกันโดยเฉพาะกรมศุลกากรกับดีเอสไอ
ประเด็นดังกล่าวเห็นได้จาก มีรถยนต์ที่ถูกกรมศุลกากรยึดมาจำนวนมากแต่ตกค้างขายทอดตลาดไม่ได้ ทำลายก็ไม่ได้ ปล่อยให้เสื่อมสภาพ ราคาตกและเกิดค่าใช้จ่ายในการดูแล ผู้ซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดแต่นำไปจดทะเบียนไม่ได้ ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายไปฟ้องร้องให้ศาลมีคำสั่งเสียก่อน
ส่วนรถยนต์ที่ดีเอสไออายัดไว้ดำเนินคดีทั้งจากโชว์รูมและจากประชาชนที่ซื้อไปมีมากถึง 140 คัน แต่เรื่องยังค้างคาอยู่จนบัดนี้ และแม้จะผ่านไปหลายปี ป.ป.ช. เพิ่งชี้มูลความผิดข้าราชการ ซี 8 ของกรมศุลกากรได้เพียงรายเดียวทั้งที่มีคดีเข้าสู่ระบบจำนวนมาก เป็นต้น
ที่ผ่านมาประเทศต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีไปนับหมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมผลิต/ประกอบรถยนต์ในประเทศได้รับผลกระทบ เกิดเครือข่ายอาชญากรรมลักรถยนต์ข้ามชาติและการฟอกเงินที่ทำลายชื่อเสียงประเทศ ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ซื้อรถยนต์ไปต้องเดือดร้อน
การดำเนินคดีที่เป็นไปอย่างล่าช้าย่อมทำให้ประชาชนเป็นกังวลว่า ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานด้วยความรับผิดชอบ ต่อหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติดีพอแล้วหรือยัง กำลังเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม ข้อเท็จจริงคืออะไร ทำไมข้อมูลและความคืบหน้าของแต่ละหน่วยงานจึงไม่ถูกรวบรวมและนำมาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้อย่างโปร่งใส ไม่มีอะไรที่ซุกซ่อนอยู่
"..ขอเชิญชวนประชาชน สื่อมวลชน ข้าราชการที่ดีมาช่วยกันติดตามเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและเรียกเอาภาษีคืนเข้ารัฐเพื่อประโยชน์ของคนไทยครับ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงกรณีการตรวจสอบรถยนต์หรูที่หลบเลี่ยงภาษีนำเข้าทั้งในส่วนของยี่ห้อ "ลัมโบร์โบกินี" และ "มาเซราติ" ซึ่งอยู่ในบัญชีการตรวจสอบของดีเอสไอ โดยอยู่ระหว่างประสานขอรายละเอียดราคานำเข้าจากทางการประเทศอิตาลี และอยู่ระหว่างรอข้อมูลตอบกลับอีก 686 คัน ซึ่งหากได้รับรายละเอียดและตรวจสอบพบว่ารถคันใดนำเข้าโดยสำแดงราคานำเข้าต่ำ หรือชำระภาษีไม่ถูกต้องก็จะดำเนินคดีเป็นรายคัน
นอกจากนี้ข้อมูลจากดีเอสไอยังระบุอีกว่า หลังดีเอสไอเข้าไปดำเนินคดีกับขบวนการนำเข้ารถยนต์หรูเลี่ยงภาษีกับบริษัทเอกชนรายใหญ่หลายแห่ง จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำรถยนต์ที่สำแดงรายการภาษีอันเป็นเท็จไปยื่นจดทะเบียน รวมถึงรัฐบาลไม่อนุญาตจดทะเบียนให้กับรถยนต์มือสองที่นำเข้าในลักษณะจดประกอบ เป็นรถใช้เชื้อเพลิงประเภทแก๊สแอลพีจี เป็นเหตุให้ผู้นำเข้าหลายรายนำรถยนต์หรูไปสวมทะเบียนให้ลูกค้าสามารถนำรถยนต์ไปขับขี่ได้
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา กรมศุลกากร ได้เปิดเผยการจัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งมีจำนวน 108,523 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีอากรนำเข้ารถหรูที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในช่วง 10 เดือนปีนี้ โดยเฉพาะรถยนต์ยี่ห้อปอร์เช่และเบนท์ลีที่จัดเก็บได้เพิ่มกว่าปีงบประมาณ 2561 ถึง 102.9% และบีเอ็มดับเบิ้ลยู 18% สาเหตุเพราะดีเอสไอคุมเข้มการนำเข้ารถหรูในปี 2561 ทำให้เกิดการชะลอตัวในปีที่ผ่านมา