ค้าน “ปฏิรูป” โครงสร้างศธ. แต่งดำ-ไม่สังฆกรรม “กศจ.”
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต พร้อมใจแต่งดำ แสดงสัญลักษณ์การคัดค้าน ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ เหตุกังวล “ปฏิรูป” โครงสร้าง ศธ. อาจส่งผลในอนาคตของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ
28 ตค.62 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 225 เขต พร้อมใจแสดงสัญลักษณ์การคัดค้าน ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ เนื่องจากมีความกังวลว่าการปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการอาจส่งผลในอนาคตของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพอาจส่งผลต่อการบริหารและการจัดการศึกษาได้จึงไม่เห็นด้วยกับกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้อำนวยการเขตพื้นที่อย่างน้อย 15 เขตไม่รับตำแหน่งในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) โดยให้เหตุผลว่าไม่มีตัวแทนของหน่วยงานที่จััดการศึกษา
ว่ากันว่า การดำเนินการครั้งนี้สมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ชมรมบุคลากร 38 ค และชมรมบุคลากรทางการศึกษา 4.0 ขอความร่วมมือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ แต่งชุดดำ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดในการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ อย่างพร้อมเพรียงกัน
โครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการทุกตำแหน่ง ในกระทรวง รองจากรัฐมนตรีว่าการ. และ รัฐมนตรีช่วย โดยมี กรม ส่วนกลาง มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมด้านงบประมาณวิชาการ, กรมส่งเสริมสนับสนุนการตรวจติดตามและนิเทศภาค ค - 12 มีผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นผู้บังคับบัญชา โดยมีรอง อธิบดี 1 คน บริหารงานในสำนักงานประจำ โดยอาจจัดให้มีผู้ตรวจราชการระดับกรม กรมละ 1 คน ก็ได้.
รวมศึกษานิเทศมาเป็นหน่วยเดียวกัน ที่สำนักงานบริหารการศึกษาจังหวัดมีหน้าที่ตรวจติตตามประเมินผลและนิเทศทุกสังกัด โดยมีหน่วยในพื้นที่อำเภอ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการศึกษาจังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชา ข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัต บริหารงานโดยผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารการศึกษาจังหวัด
กระจายอำนาจไปยังกลุ่มโรงเรียน (ในโรงเรียนประถมศึกษา) และสถานศึกษาในสังกัดอื่น ๆ โดยให้ ผอ.สำนักงานมี หน้าที่บริหารงานโดยผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานนั้น ๆ. หน่วยงานระดับจังหวัดเป็นราชการครูโดยให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารการศึกษาจังหวัด มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยใช้รูปแบบประเมินแนวทางเดียวกับการประเมินผู้บริหารการศึกษาในปัจจุบัน (ว.๑๒)
ทั้งนี้ ซึ่งมีรายงานว่าคณะกรรมการปรับโครงสร้างกระทรวงฯ ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการมีแนวคิดปรับโครงสร้างฯ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างนำเสนอ เพื่อให้แต่ละแท่ง/สังกัด ไปศึกษารายละเอียด และจะนำเสนอรายละเอียดอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะสิ้นสุดประมาณเดือนกุมภาพันธ์
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนผู้บริหารที่มีความเป็นห่วงโครงสร้างดังกล่าวอย่างน้อย 9 คน ประกอบด้วย1. นายธนชน มุทาพร(ผอ.สพป.ชัยภูมิ 1) ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย/เลขาธิการสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย 2. นายศุภสิน ภูศรีโสม(ผอ.สพป.ขอนแก่น 4) เลขานุการชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย 3. นายไพศาล ปันแดน(ผอ.สพป.สุพรรณบุรี 1)นายกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย
4. นายถาวร คูณิรัตน์(ผอ.สพป.อุบลฯ 1)อุปนายกสมาคมนักบริหารฯ 5. นายสุวิทย์ มุกดาภิรมย์(ผอ.สพป.ลำพูน 1)อุปนายกสมาคมนักบริหารฯ6. นายรตนภูมิ โนสุ(ผอ.สพป.เชียงใหม่ 1)นายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย7. นายอดุลย์ กองทอง (ผอ.สพป.ยโสธร)อุปนายสมาคมผู้บริหารฯ8. นายอดิศักดิ์ มุ่งชู(ผอ.สพม.25/ขอนแก่น)นายกสมาคมผู้บริหารมัธยมเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย 9. นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย จะประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ณัฐฎพล ทีปสุวรรณ” เพื่อสรุปแนวทางร่วมกันวันนี้ (29 ต.ค.)
อย่างไรก็ตามหลายพื้นที่มีข้าราชการแต่งชุดดำเชิงสัญลักษณ์คัดค้านเผยแพร่แถลงการณ์ ไม่เห็นด้วย อย่างเช่น สมาคมสมาพันธุ์นักการศึกษาจังหวัดพิจิตร ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นตัวต่อแนวคิดในการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใจความว่า การปรับปรุงกระทบต่อสภาพจิตใจ ขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานทั้งระบบ ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มี ส่วนได้เสียซึ่งอาจส่งผลให้อนาคตของผู้ปฏิติงานทุกระดับ ส่งผลเสียต่อการบริหารจัดการและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยภาพรวม อาจมีการยุบเลิกเขตพื้นที่การศึกษาและจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแทน
เช่นที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 41 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร กลุ่มข้าราชการ แต่งชุดดำเชิงสัญลักษณ์คัดค้าน นำโดย “สมวุฒิ ศรีอำไพ” อดีตผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 41 (สพม.) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเขต 41 กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสำคัญ และขอเป็นกลุ่มแนวร่วมในการคัดค้านและวิธีการของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้
โดยข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 41 พร้อมใจแสดงสัญลักษณ์การคัดค้าน ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ ด้วยการแต่งกายชุดดำ วันที่ 30 ต.ค. จะเดินทางกันไปรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการและจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ต่อไป
"วราวิช กำภู ณ อยุธยา" ประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการฯนัดแรกวานนี้(28 ต.ค.) ว่าได้ทำความเข้าใจกับคณะกรรมการว่า วัตถุประสงค์หลักของการปฏิรูปฯครั้งนี้ ไม่เน้นปรับปรุงโครงสร้าง แต่เป็นการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีความทันสมัย ให้ครู ผู้บริหาร และบุคลากรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารจัดการและคุณภาพของผู้เรียน โดยได้มอบโจทย์ให้กับคณะกรรมการไปรวบรวมข้อมูลและนำเสนอแนวทางวิธีที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษากลับมาประชุมกันอีกครั้งในเดือนหน้า เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุด
"จากประสบการณ์ปรับโครงสร้างมาแล้วหลายแห่ง ต้องมีทั้งการรวมศูนย์อำนาจและกระจายอำนาจ แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าอย่างไหนดีทั้ง 100% หรือวิธีการใดที่ทำแล้วคนจะพอใจทั้ง100% เพราะฉะนั้นหากจะมีการเปลี่ยนแปลง เราจะต้องหาวิธีที่ดีที่สุดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ ศธ. และจะไม่มีการลิดรอนสิทธิประโยชน์และศักดิ์ศรีที่เคยได้" ประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)กล่าว
ไม่ว่าผลการประชุมร่วมกันระหว่างตััวแทนผู้บริหารที่คัดค้านโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) 9 คนกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ณัฐพล ทีปสุวรรณ” จะออกมาอย่างไร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ยังคงยืนยันว่าวันที่ 30 ต.ค. จะยังคงเห็นรถตู้ รถทัวร์บรรทุกข้าราชการแต่งดำ 225 คันยังคงจอดเต็มรัฐสภาเช่นเดิม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-นัด ครู-ผอ.ร.ร.ทั่วประเทศแต่งดำ ค้านยุบ-เลิกเขตพื้นที่กศ.พรุ่งนี้!
-ฝากสพท.เน้นบริการจัดการแก้ปัญหาการศึกษา
-สพฐ. ลงพื้นที่ดูแลอาหารกลางวันนักเรียนใกล้ชิด หากพบทุจริตดำเนินการเด็ดขาด
-ปี'63 สพฐ.ตั้งงบให้เขตพื้นที่ละ 10 ล้านบาท