เปิดเส้นทางสืบสันตติวงศ์ เจ้าชายน้อย ‘ฮิซาฮิโตะ’
ราชวงศ์ญี่ปุ่นยังมีโจทย์ใหญ่อีกหนึ่งข้อสำหรับโลกยุคใหม่ นั่นคือตามกฎมณเฑียรบาลพระราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศต้องสืบทอดโดยผู้ชายเท่านั้น
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับพระราชพิธีราชาภิเษกอันยิ่งใหญ่ พสกนิกรชาวญี่ปุ่นปลาบปลื้มใจกับสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ
อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ญี่ปุ่นยังมีโจทย์ใหญ่อีกหนึ่งข้อสำหรับโลกยุคใหม่ นั่นคือตามกฎมณเฑียรบาลพระราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศต้องสืบทอดโดยผู้ชายเท่านั้น ในเมื่อทั้งสองพระองค์มีเจ้าหญิงไอโกะเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียว เท่ากับว่าเจ้าหญิงน้อยทรงหมดสิทธิในราชบัลลังก์ รัชทายาทอันดับ 1 คือเจ้าชายฟูมิฮิโตะ (อากิชิโนะ) พระอนุชา ลำดับถัดไปคือ “เจ้าชายฮิซาฮิโตะ” พระโอรสเพียงองค์เดียวของเจ้าชายอากิชิโนะ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่กี่เดือนหลังจากพระปิตุลาทรงราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ เจ้าชายน้อยก็เสด็จเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรก เสด็จไปภูฏานเมื่อเดือน ส.ค. หลายคนมองว่า นี่คือการเปิดตัวว่าที่สมเด็จพระจักรพรรดิต่อโลกภายนอก
เจ้าชายน้อยทรงฉลองพระองค์กิโมโนฮากามะ และทรงธนู สร้างความประทับใจให้กับเจ้าภาพและทุกคนที่พบเห็น การเสด็จเยือนครั้งนี้ถือเป็นการพบปะสาธารณชนอย่างที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก สำหรับเด็กชายผู้แบกรับอนาคตของราชวงศ์ทั้งหมดไว้เต็มสองบ่า
บัลลังก์ญี่ปุ่นอนุญาตให้ผู้ชายเท่านั้น และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสืบสันตติวงศ์ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ
เจ้าชาฮิซาฮิโตะ พระชันษา 13 ปี โอรสของมกุฎราชกุมารอากิชิโนะ พระชนมายุ 53 พรรษา จึงเป็นราชวงศ์ชายเพียงพระองค์เดียวในรุ่นนี้
บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาซาฮีเคยนำเสนอประเด็นนี้ไว้ในปีนี้
“ภายใต้กฎมณเฑียรบาลปัจจุบันว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ เจ้าชายฮิซาฮิโตะจะค่อยๆ ทรงแบกภาระในการสืบทอดราชวงศ์อิมพิเรียลให้ยืนยาว แรงกดดันต่อพระองค์สุดท้ายแล้วจะหนักหนาสากรรจ์เกินกว่าที่คิด”
การประสูติของเจ้าชายฮิซาฮิโตะเมื่อปี 2549 ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในสายตาชาวญี่ปุ่นสายอนุรักษนิยม ที่ต้องการคงการสืบทอดบัลลังก์โดยผู้ชายเอาไว้
นับตั้งแต่ปี 2508 ราชวงศ์อิมพิเรียลไม่มีทายาทชายประสูติเลย สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะเองทรงต้องใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าจะได้พระธิดา “เจ้าหญิงไอโกะ” จุดชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อทบทวนกฎหมายการสืบสันตติวงศ์ อนุญาตให้ผู้หญิงสืบทอดราชบัลลังก์ได้ แต่เมื่อเจ้าชายฮิซาฮิโตะประสูติความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ชะงักไป
“ฝ่ายอนุรักษนิยมรู้สึกว่า สวรรค์เปิดแล้ว” ฮิเดฮิโกะ คาซาฮาระ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคโอให้ความเห็น
ขณะนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญและสื่อกำลังสงสัยว่า เจ้าชายฮิซาฮิโตะได้รับการฝึกพระองค์เหมาะสมสำหรับอนาคตหรือไม่
“เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องทำให้พระองค์ทรงตระหนักว่า ทรงอยู่ในตำแหน่งสืบทอดราชบัลลังก์ เมื่อพบปะผู้คนทรงต้องระลึกเสียแต่เนิ่นๆ” คาซาฮาระกล่าว
รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกที่ 2 ไม่ได้ให้อำนาจทางการเมืองแด่องค์พระจักรพรรดิ กำหนดให้พระองค์เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งรัฐและความเป็นเอกภาพของประชาชน
สำหรับเจ้าชายฮิซาฮิโตะ ขณะนี้ทรงศึกษาที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในเครือมหาวิทยาลัยโอชาโนมิซุ เป็นสมาชิกราชวงศ์พระองค์แรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไม่ทรงศึกษาในกากุชุอิน โรงเรียนเอกชนชั้นสูง
ขณะที่สมเด็จพระอัยกาอากิฮิโตะ ทรงถูกฝึกให้แสดงบทบาทสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ประชาธิปไตย และความสมานฉันท์กับผู้ตกเป็นเหยื่อถูกญี่ปุ่นรุกรานในช่วงสงคราม แต่เจ้าชายฮิซาฮิโตะไม่มีที่ปรึกษาพิเศษช่วยเตรียมพระองค์เป็นพระจักรพรรดิในอนาค