ขยะพลาสติก 'ล้น' 3แบรนด์ดังติดโผ ตกค้างทะเล-ดอย
กรีนพีช เผย 5 อันดับขยะพลาสติก “โคคา-โคลา” ขึ้นแท่นอันดับ 1 ขยะแบรนด์ข้ามชาติ ด้าน “ซีพี” ติดอันดับ 1 แบรนด์ไทย แนะ 4 แนวทางปฏิบัติ ลดปัญหาการพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง
วานนี้ (29 ต.ค 62) กรีนพีชประเทศไทย เปิดผลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ในประเทศไทย ปี 2562 โดยเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อนำขยะพลาสติกมาตรวจสอบแบรนด์สินค้าที่พึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่วมกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทั่วโลก 6 ทวีป ในนาม Break Free From Plastics กว่า 51 ประเทศ 484 พื้นที่ อาสาสมัครกว่า 72,451 คน สามารถเก็บขยะได้กว่า 476,423 ชิ้นทั่วโลก โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่า ขยะจาก 3 แบรนด์ข้ามชาติที่พบมากที่สุด ได้แก่ โคคา-โคล่า เนสท์เล่ และ เป็ปซี่โค
ภาพโดย จันทร์กลาง กันทอง/กรีนพีซ
นางสาวพิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีชประเทศไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา กรีนพีชทั่วโลก ได้ทำการส่งขยะที่เก็บได้ทั้งหมดไปยังสำนักงานใหญ่ของเนสท์เล่ และยูนิลิเวอร์ ส่งผลให้ทั้งสองแบรนด์เริ่มมีการตระหนัก ยูนิลีเวอร์ ตั้งเป้าในการทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของยูนิลีเวอร์ สามารถรีไซเคิลได้ นำกลับมาใช้ใหม่และย่อยสลายได้ภายในปี 2568 และในปีนี้ยูนิลิเวอร์ไทยก็ประกาศปฏิวัติพลาสติกเช่นเดียวกัน
โค้ก-ซีพี ยืนหนึ่งขยะพลาสติก
สำหรับผลการตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) จากขยะพลาสติกในประเทศไทยปี 2562 มีการเก็บขยะในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ บริเวณดอยสุเทพ และ จ.สงขลา บริเวณแหลมสนอ่อน มีอาสาสมัครจำนวน 115 คน พบว่า สามารถเก็บรวบรวมขยะได้ 6,091 ชิ้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหาร 5,485 ชิ้น อุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ 231 ชิ้น ของใช้ภายในบ้าน 188 ชิ้น ของใช้ส่วนตัว 186 ชิ้น และอื่นๆ 1 ชิ้น
ภาพโดย กรีนพีช
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลขยะจากทั้ง 2 จังหวัด พบขยะพลาสติกจากแบรนด์ข้ามชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ โคคา-โคลา , เนสท์เล่ , อายิโนะโมะโต๊ะ , มอนเดลิช และยูนิลิเวอร์ ตามลำดับ ขณะที่ 5 อันดับ แบรนด์ไทย ที่พบเป็นขยะพลาสติกมากที่สุด ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์, โอสถสภา, กลุ่มธุรกิจ TCP, เสริมสุข และสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ตามลำดับ ซึ่งใกล้เคียงกับการเก็บข้อมูลในพื้นที่ จังหวัดชลบุรี เมื่อปีที่ผ่านมา
โดยประเภทวัสดุที่พบตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ พลาสติกอื่นๆ (ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น เช่น กล่องนม) 2,729 ชิ้น รองลงมา คือ โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) 1,016 ชิ้น และโพลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) 986 ชิ้น
ภาพโดย กรีนพีช
หากแยกเป็นพื้นที่ ในจังหวัดเชียงใหม่ พบขยะแบรนด์ข้ามชาติมากที่สุด ได้แก่ เนสท์เล่ โคคา-โคล่า และมอนเดลีช ขณะที่แบรนด์ไทย ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โอสถสภา และสิงห์ คอเปอเรชั่น ด้านจังหวัดสงขลา แบรนด์ข้ามชาติ ได้แก่ โคคา-โคล่า เนสท์เล่ และอายิโนโมะโต๊ะ ส่วนแบรนด์ไทย ได้แก่ โอสถสภา เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มธุรกิจ TCP (กระทิงแดง) ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว ได้มีการจัดส่งให้กับบรรดาแบรนด์ต่างๆ และรอติดตามผลต่อไป
แม้เรื่องขยะพลาสติก ขยะทะเล ขยะข้ามแดน ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ถูกพูดถึงกันมาเป็นเวลานานจนไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบัน “ผู้บริโภค” เริ่มมีความตระหนักในการปฏิเสธถุงพลาสติก หันมาใช้แก้วน้ำแบบพกพา “ภาครัฐ” ก็ออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดปัญหา แต่จากการวิเคราะห์สถานการณ์การจัดการพลาสติกทั้งระบบในประเทศไทย กลับพบว่า ปัญหาขยะเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต บริโภค จนถึงการจัดการของเสีย เราไม่สามารถหาทางออกจากวิกฤตมลพิษพลาสติกได้เลย หากมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเดียว โดยละเลยการขยายความรับผิดชอบของส่วนที่สำคัญที่สุดอย่าง “ผู้ผลิต”
แนะ4แนวทางผู้ผลิตลดขยะ
นางสาวพิชามญชุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่ากรีนพีช ได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) ลดการพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติก และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ กับแนวทางปฏิบัติ 4 ประการ คือ 1. เปิดเผยข้อมูล “รอยเท้าพลาสติก” (Plastic Footprint) หมายถึงปริมาณพลาสติกที่บริษัทใช้ในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการขนส่งภายในช่วงเวลา 12 เดือนที่มีการระบุไว้ โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ 2. มุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยการตั้งเป้าชัดเจนในแต่ละปี 3. ขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นมากที่สุดภายในปี 2562 และ 4. ลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า ผลจากการตรวจสอบ Brand Audit พบว่าปัญหาดังกล่าว เกิดจากผู้ผลิตสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ด้วย บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เจอส่วนใหญ่เป็นสินค้า FMCG (ราคาถูก ร้านสะดวกซื้อ และหยิบมาได้สะดวก) เป็นประเด็นสำคัญที่มีความท้าทายทั่วโลก เพราะการผลิตสินค้าเหล่านี้เติบโตและผลิตออกมาเรื่อยๆ ตามอัตราการบริโภคของสังคมเมือง สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมีการทบทวนในการผลิต หากแบรนด์เหล่านี้ สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน คงทน เป็นธรรมกับผู้บริโภค จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
ภาพโดย กรีนพีช
ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลออกมาตรการ งดใช้พลาสติก 3 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม , พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และพลาสติกผสมไมโครบีด โดยร่วมกับ 43 ห้างใหญ่งดแจกถุงพลาสติก ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป รวมถึงแบนพลาสติกอีก 4 ชนิดภายในปี 2565 ได้แก่ พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน , กล่องโฟมบรรจุอาหาร , หลอดพลาสติกที่มีข้อยกเว้นสำหรับใช้กับเด็ก คนชรา และผู้ป่วย และยกเลิกใช้แก้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
นายธารา ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวว่า เป็นความท้าทายของไทยในการลดใช้ถุงพลาสติก เนื่องจากในแต่ละปีคนไทยใช้ถุงพลาสติกไปกว่า 4 หมื่นล้านชิ้น ซึ่ง 50% มาจาก โมเดิร์นเทรด (Modern Trade) และ 50% จากตลาดสด หากมาตรการดังกล่าวสำเร็จ ถือว่าเราสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้ครึ่งหนึ่ง
นางสาวทอฝัน กันทะมูล นักศึกษชั้นปีที่ 2 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาชิกชมรมอนนุรักษ์ธรรมชาติ มช. หนึ่งในอาสาสมัคร Brand Audit กล่าวเสริมว่า ควรปลูกฝังจิตสำนึก ลงลึกไปถึงระบบการศึกษาปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โดยมีผู้ใหญ่เป็นแบบอย่าง และมีนโยบายภาครัฐที่จริงจังเข้มแข็ง เพราะขยะไม่ได้อยู่แค่ทะเล แต่บนดอยก็มี ทุกคนสามารถสร้างขยะได้ในทุกพื้นที่
ภาพโดย จันทร์กลาง กันทอง/กรีนพีซ
ด้าน นายอภิศักดิ์ ทัศนี ตัวแทนกลุ่ม Beach for Life จังหวัดสงขลา กล่าวว่า รัฐต้องลงทุนกับสิ่งต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกของประชาชน หากน้ำดื่มริมทาง สะอาด เข้าถึงง่าย ปลอดภัย เชื่อว่าคนจะพกขวดน้ำติดตัว ภาคเอกชนต้องลงทุน คิดหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดการใช้พลาสติก