Inflection Point สัญญาณเปลี่ยนเกม
ในแวดวงนักลงทุนทั้งกลุ่ม CVC และ VC กำลังถกเถียงกันว่า “Next Wave” ของสตาร์ทอัพไทยจะเป็นอย่างไร?
บ้างก็ตั้งคำถามว่า แล้วจะไปต่อได้ไหมในสภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและจำนวนดีลที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา บ้างก็ให้มุมมองเชิงบวกว่า ช่วงนี้ช่างเป็นโอกาสดีของการปรับฐาน เป็นการคัดแยก “ตัวจริง” ออกจาก “มือสมัครเล่น” ที่พอเงินลงทุนในระดับ Seed หรือเงินสนับสนุนจากภาครัฐลดลง ก็ค่อยๆทยอยล้มหายออกจากตลาดกันไป ปัจจัยลบที่ทำให้เกิดบรรยากาศ อึมครึมในมุมของการลงทุนในปีนี้ก็คงหนีไม่พ้น สภาวะเศรษฐกิจ ความระมัดระวังในการลงทุนของกองทุนต่าง ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มของ CVC และ การกว้านซื้อกิจการสตาร์ทอัพของ Tech Company รายใหญ่ที่ทำให้ตลาดถูกมองว่าจะจบลงด้วยเกม “Winners take all” ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีในมุมของการแข่งขันในตลาดหลักๆ เช่น E-Commerce, Online Travel, Online Media, Payments, และ Ride Hailing
หลายคนที่อยู่ในวงการสตาร์ทอัพต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คนรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับสตาร์ทอัพรายใหม่ๆน้อยลง ความหวือหวาตื่นเต้นที่เคยมี กลายเป็นเฝ้าจับตามองว่า ใครจะไปรอดและใครจะจอดป้าย ความรู้สึกนี้ล้วนเป็นผลกระทบที่มาจากการมีสตาร์ทอัพ “มือสมัครเล่น” มากเกินไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายรายอยู่ได้ด้วยเงินทุนจากรัฐแต่ไม่โตหรือยังไม่สามารถหา Business Model Fit ได้เสียทีทำให้ไม่มีรายได้หล่อเลี้ยงและไม่มี Traction มากพอที่จะต่อยอดธุรกิจ สถานการณ์แบบนี้ทำให้สตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่เริ่มมองหาทางรอดด้วยการจับตลาด B2B มากขึ้น และลด Burn Rate ของตัวเองลง มุ่งเน้นที่การสร้าง “รายได้” มากกว่าการหายอดดาวน์โหลดหรือ Traction เชิงปริมาณแต่จับต้องเม็ดเงินไม่ได้
สิ่งเหล่านี้ เป็นสถานการณ์ที่ถูกคาดเดาไว้อยู่แล้ว เพราะความร้อนแรงที่เกิดขึ้นในระยะสองสามปีที่ผ่านมา เป็นการผลักดันให้เกิด “สตาร์ทอัพหน้าใหม่” ในขณะที่เส้นทางของสตาร์ทอัพหน้าใหม่เหล่านั้นกำลังเดินเข้าสู่จุดที่เรียกว่า “ Inflection Point” หรือจุดหักเหของธุรกิจซึ่งมีทางเลือกเพียงทางเดียว คือถ้าไม่โตแบบก้าวกระโดดให้ได้ ก็จะถูกกลืนโดยผู้เล่นรายใหญ่หรือรายใหม่ที่แข็งแรงกว่า เพราะเมื่อตลาดกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ ดีมานด์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมจะทำให้เกิดซัพพลายจำนวนมากตามมา ยกตัวอย่างเช่นสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องการให้บริการช่างหรือแม่บ้าน เมื่อสิ่งนี้กลายเป็นวิถีใหม่ของคนเมืองในการเลือกใช้บริการ ด้วยการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น ถ้าสตาร์ทอัพที่อยู่ในเกมรายไหนหาจุดยุทธศาตร์ของตัวเองไม่เจอ ไม่สามารถทำให้เกิดการใช้งานและทำให้เกิด Critical Mass ได้ ก็จะประสบปัญหาเรื่อง Scale และเดินหน้าต่อได้ยาก
ถ้ามองตลาดในภาพใหญ่ Internet Economy ใน Southeast Asia รายงานล่าสุดจาก e-Conomy SEA 2019 ที่ เพิ่งปล่อยออกมาสดๆร้อนๆ ระบุว่าตลาด Internet Economy ในภูมิภาคนี้กำลังเข้าสู่จุดหักเหสำคัญ (Inflection Point) นั่นคือมูลค่า Gross Merchandise Value (GMV – มูลค่าการขายรวม) เติบโตกว่าสามเท่าและได้แตะจุด หนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว มูลค่าการเติบโตเฉลี่ยของทุกประเทศอยู่ที่ประมาณ 20-30% ยกเว้นอินโดนีเซียและเวียดนามที่อัตราการเติบโตร้อนแรงมากถึง 40% และยังไม่มีสัญญาณที่จะชะลอตัว การคาดการณ์ GMV ในอีก 5 ปีข้างหน้าอยู่ที่ สามแสนเหรียญสหรัฐและจะมีสัดส่วนถึง 8.5% ของ GDP มวลรวมของทั้งภูมิภาค ปัจจัยเร่งการเติบโตในภาพรวม ประเด็นใหญ่เกิดจากการขยายตัวของฐานลูกค้าที่ไม่ได้หยุดอยู่ที่แค่กลุ่มคนเมืองแต่การเติบโตและการเข้าถึง Mobile Internet ของประชากรอาเซียนได้แพร่ขยายออกไปในทั้งเมืองใหญ่และเมืองรอง ควบคู่ไปกับไลฟ์สไตล์ที่มี Online Services หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตั้งแต่การบริโภค Media การใช้บริการการเดินทางและท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ และ Digital Finance Services
ในขณะที่องค์ประกอบทุกอย่างภายนอกดูเหมือนจะเป็น “แรงส่ง” แต่ทำไมวงการสตาร์ทอัพไทยกลับดูเหมือนจะแผ่วลง? ถ้ามองกันจริง ๆแล้ว จุดนี้กำลังจะเป็นจุดหักเหในเชิงกลยุทธที่สำคัญ สตาร์ทอัพหลายรายที่มีความพร้อมกำลังซุ่มปรับกลยุทธเพื่อพาตัวเองไปสู่จุด Inflection Point ด้วยเส้นทางที่แตกต่างกัน บ้างโฟกัสที่การเกาะเกี่ยวไปกับพันธมิตรระดับผู้นำอุตสาหกรรม บ้างเดินเข้าหาภาครัฐเพื่อหาจุดเปลี่ยนเชิงนโยบายและแทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Solutions จุดนี้จึงเปรียบเสมือนจุดคัดกรองที่จะมีแค่คนที่ “พร้อม”เท่านั้นที่จะผ่านด่านนี้ไปได้ สตาร์ทอัพหลายคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจมานาน มองสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เกิดนี้ว่า เป็นโอกาสที่ดีของสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจจริง ๆ และมีความชัดเจนเรื่องโมเดลธุรกิจ เพราะ เกมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นผู้ที่จะยืนระยะอยู่ได้ต้องเป็น “ตัวจริง”ที่เป็นมืออาชีพเท่านั้น!