'อ.โหน่ง' สู้คดีโกงเงินจองทัวร์ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 9 ธ.ค.
ศาลเบิกตัว "อ.โหน่ง ภัทริคณ์" จากเรือนจำ สอบคำให้การคดีอัยการ ฟ้องลวงขายทัวร์ราคาถูกรับทรัพย์หลายสิบล้าน เจ้าตัวให้การปฏิเสธ
ที่ห้องเวรชี้ (ห้องควบคุมชั้น 1) ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 10.00 น. ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย คดีฉ้อโกงประชาชน หลอกลวงจองทัวร์ยุโรป-อเมริกา ราคาถูก ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ ในคดีหมายเลขดำ อ.2845/2562 ยื่นฟ้อง บริษัท อี แอล ซีกรุ๊ป จำกัด และนายภัทริคณ์ เรตะกุล ที่รู้จักกันในนาม อาจารย์โหน่ง ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนฯ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 , ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560
โดยคดีนี้อัยการ ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 29 ต.ค.62 พฤติการรณ์ระหว่างวันที่ 7 ม.ค.58 - 5 ส.ค. 62 จำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตโดยร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งได้นำเข้าเป็นข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านการโพสต์ Facebook ในบัญชีชื่อ "ELC TOUR" , "Patrick Rathakul" , "อี แอล ซี ทัวร์" , "Pat Rathakul" , "Rathakul Patrick" โพสต์ข้อความจัดโปรแกรมท่องเที่ยวโซนยุโรป , อเมริกา , สแกนดิเนเวีย , แอฟริกา , ญี่ปุ่น-เกาหลี ให้กับสมาชิกในราคาถูกกว่าปกติ โดยสมาชิกจะต้องเคยไปท่องเที่ยวกับ บริษัท อีแอลซีฯ มาก่อนเท่านั้น จึงจะสามารถซื้อทัวร์ได้ราคาถูก พร้อมกับชักชวนให้สมัครสมาชิก แนะนำบอกต่อ หรือชักชวนญาติเพื่อนๆ มาท่องเที่ยวกับบริษัทฯ จนมีผู้เสียหาย 130 รายหลงเชื่อ จ่ายเงินจองรายการทัวร์ (หลายสิบล้านบาท) ให้จำเลยทั้งสอง แต่เมื่อถึงเวลาไม่สามารถจัดการท่องเที่ยวให้ผู้เสียหายได้ครบถ้วนตามรายการที่จองไว้ ชั้นสอบสวนทั้งสองให้การปฏิเสธโดยตลอด
ขณะที่วันนี้ ศาลได้เบิกตัว "นายภัทริคณ์" กรรมการบริษัทฯ จำเลยที่ 2 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯตั้งแต่ชั้นฝากขังเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาเพราะไม่ได้ประกันตัว มาเพื่อสอบคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธคดีที่อัยการฟ้องนี้ ซึ่งวันนี้ "นายภัทริคณ์" ที่สวมชุดนักโทษ และสวมหน้ากากอนามัยปิดปาก-จมูก พร้อมแว่นสายตา มีสีหน้าค่อนข้างเคร่งเครียด โดยเมื่อถึงเวลา ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้ "นายภัทริคณ์" จำเลยที่ 2 ฟังจนเข้าใจแล้วสอบคำให้การ ปรากฏว่า "นายภัทริคณ์" จำเลย แถลงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมแถลงได้จัดเตรียมทนายความไว้สู้คดีแล้ว ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เวลา 13.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวนั้นก่อนหน้านี้ ในชั้นสอบสวนพบว่า ก่อนเกิดเหตุกลุ่มที่จองทัวร์ได้เดินทางไปท่องเที่ยวในราคาถูกได้จริงและได้รับการบริการไม่ต่างจากการไปเที่ยวในราคาปกติ แต่เมื่อกลับมาก็จะมีการจองรายการนำเที่ยวในโปรแกรมอื่นเพิ่มเติมอันเป็นการขยายวงลูกค้าออกไปซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในวิธีการหลอกลวงให้เชื่อว่าประชาชนซื้อทัวร์เพื่อเดินทางในครั้งแรกแล้วกลับมาซื้อทัวร์เพิ่มเติมได้ในครั้งถัดไป แต่เมื่อนักท่องเที่ยวซื้อทัวร์ในครั้งถัดไปกลับไม่ได้เดินทางตามทัวร์ที่ซื้อเอาไว้ โดยจะแจ้งขอเลื่อนการเดินทางโดยไม่แจ้งสาเหตุ และหลายรายการก็ไม่สามารถจัดให้ผู้เสียหายได้เดินทางไปท่องเที่ยวตามที่ตกลง ทั้งที่รับค่าจัดกรุ๊ปทัวร์มาแล้ว โดยการกระทำนั้น มูลค่าความเสียหายเป็นเงิน ประมาณ 60,651,186 บาท