‘กองทุนประกันสังคม’ปรับแผนลงทุน5ปี

‘กองทุนประกันสังคม’ปรับแผนลงทุน5ปี

"กองทุนประกันสังคม" ทำแผนยุทธศาสตร์ลงทุน5ปี ระหว่างปี 2563-2567 คาดสิ้นปีแล้วเสร็จ  แย้มผลตอบแทนการลงทุนปีนี้สูงกว่าปีก่อน ที่มีผลตอบแทน 5.5 หมื่นล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าดัชนีอ้างอิง เหตุตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ผันผวน 

นายอนันท์ จารุพันธ์ หัวหน้ากลุ่มงานการลงทุนกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคม อยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธ์ศาสตร์ลงทุน 5 ปี ใหม่ ( 2563-2567 ) เพราะปีนี้เป็นช่วงปีสุดท้ายของแผนการลงทุน 5ปี เดิม (2558-2562)แล้ว โดยคาดว่าแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่จะเสร็จภายในปลายในสิ้นปีนี้ ส่วนนโยบายการลงทุนจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่สามารถตอบได้    ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนที่บริหาร  มูลค่า 2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่จ้างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 7 แห่งบริหาร สัดส่วน 6 % ของมูลค่าเงินกองทุน ส่วนเงินที่เหลือกองทุนฯบริหารเอง โดยเงินส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้ไทยประมาณ 70 % ของมูลค่าพอร์ตลงทุน  เป็นการลงทุนในตราสารทุนประมาณกว่า  10 % และที่เหลืออีกประมาณ 10 % ลงทุนในตราสารหนี้ และ หุ้นต่างประเทศ ซึ่งจะลงทุนผ่านกองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund)

สำหรับผลตอบแทนการลงทุนในปีนี้ ถือว่าต่ำกว่าดัชนีอ้างอิงเล็กน้อย เป็นผลมาจากภาวะตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้มีความผันผวน อย่างไรก็ตามกองทุนไม่ได้มีการปรับพอร์ตการลงทุนมากนัก เพราะกองทุนของกองทุนประกันสังคมเป็นการลงทุนระยะยยาว และการลงทุนของกองทุนฯนั้นจะลงตามแผนกลยุทธ์การลงทุน5 ปี และในปีนี้เป็นปีสุดท้ายของแผน 5ปี แต่คาดว่าผลตอบแทนการลงทุนปี2562 คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อน 

เขากล่าวต่อว่า ส่วนการรายงานขายหุ้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ในช่วงเช้าวานนี้ ( 30 ต.ค. ) มีความผิดพลาด ซึ่งจริงๆแล้ว กองทุนประกันสังคมมีการขายหุ้นออกไปเพียง 6.48 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.1359 % ไม่ใช่ขายหุ้นจำนวน 232.75ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.78 %  โดยกองทุนประกันสังคมยังคงถือหุ้นจำนวน 232.75 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็น 4.877 %

ทั้งนี้ จากที่เห็นกองทุนประกันสังคมมีการขายหุ้น TU ออกไปในช่วงที่ผ่านมาและครั้งนี้ เป็นการขายของบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ที่ทางสำนักงานประกันสังคมจ้างบริหาร ส่วนสาเหตุที่มีการขายออกมานั้น เป็นนโยบายของบลจ.รายนั้นๆว่ามีมุมมองอย่างไร

อนึ่ง  สำหรับผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 30,620 ล้านบาท จากเงินลงทุนจำนวน 2.02 ล้านล้านบาท โดยเงินลงทุนสามารถแบ่งออกเป็น หลักทรัพย์ที่มีความมั่งคงสูง 78.5 % และหลักทรัพย์เสี่ยง 21.5 % ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ที่กำหนดกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน40%

ส่วนผลตอบแทนการลงทุนปี 2561 อยู่ที่ 55,600 ล้านบาท ทำให้กองทุนประกันสังคมในภาพรวมมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีอ้างอิงเพราะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนีอ้างอิง โดยกองทุนมีเงินลงทุนรวม ณ สิ้นปี 2561 มูลค่า 1.90 ล้านล้านบาท โดยเงินส่วนใหญ่นำไปลงทุนในตราสารที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังคำประกัน และหุ้นกู้เอกชน 79.50 % ของเงินลงทุน ที่เหลือ ลงทุนหลักทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น