จุฬาฯ ทดสอบ "แก้วกระดาษ" เพาะชำกล้าไม้ทดแทนถุงพลาสติก
จุฬาฯ ร่วมมือ กรมป่าไม้ โครงการทดสอบแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ สำหรับการเพาะชำกล้าไม้ทดแทนถุงพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันการกำจัดขยะในรั้วจุฬาฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อยอดการนำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ หรือ zero-waste
cup ที่ใช้แล้ว ซึ่งย่อยสลายได้ในดิน ไปใช้ทดสอบเพาะชำกล้าไม้ เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และผลักดันการกำจัดขยะในรั้วจุฬาฯ อย่างครบวงจร ตอกย้ำภาพผู้นำด้านการจัดการขยะของประเทศ พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ห้องรับรอง หอประชุมจุฬาฯ โดยมี ศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานในพิธี
ศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอย จึงได้จัดโครงการ Chula Zero Waste เพื่อป้องกันหรือลดขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ทำให้ในปัจจุบันโรงอาหารภายในจุฬาฯ กว่า 17 แห่ง ได้เปลี่ยนมาใช้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ หรือ zero–waste cup 100 % แก้วดังกล่าวสามารถย่อยสลายได้ทั้งหมดภายใน 4-6 เดือน ซึ่งนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินได้
โครงการทดสอบแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะชำกล้าไม้นี้ จะนำแก้วที่ใช้แล้วจากโรงอาหารของจุฬาฯ ไปใส่ต้นไม้ที่ กรมป่าไม้จะปลูกทดแทนถุงพลาสติก นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด และถือเป็นการกำจัดขยะพลาสติก ซึ่งสนับสนุนแนวคิดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุหรือ PETROMAT ร่วมกับ กรมป่าไม้ ในการขับเคลื่อนให้โครงการนี้เดินหน้าได้ต่อไป
นายปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นโดยมีความต้องการเพาะกล้าไม้คุณภาพดีปีละ 100 ล้านต้น ต้นไม้ที่ปลูกยิ่งมีอายุมากก็ยิ่งมีคุณค่า ในแต่ละปีมีการใช้ถุงพลาสติกปลูกกล้าไม้จำนวนมากซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ ได้มองหาแนวทางในการลดการใช้ถุงพลาสติกดังกล่าว ดังนั้นการนำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพหรือ zero-waste cup ที่ผ่านการใช้งานแล้วจากจุฬาฯ มาทดสอบการย่อยสลายในดิน สำหรับนำไปใช้เพาะชำกล้าไม้แทนถุงพลาสติก จึงเป็นโครงการนำร่องที่ดี ความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับกรมป่าไม้ในครั้งนี้มีระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการลดขยะพลาสติก และเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย