ด่วน! ภูเก็ต ประกาศตำบลกะรน-ฉลอง เป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม
ด่วน! ภูเก็ต ประกาศตำบลกะรน-ฉลอง เป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม หลังฝนตกหนักต่อเนื่องดินโคลนจากเทือกเขาไหลหลาก พร้อมนำกำลังจิตอาสา และเครื่องจักรลงพื้นที่ ฟื้นฟูเยียวยา ด้าน ท้องถิ่นเร่งสำรวจความเสียหาย หาสาเหตุของปัญหาและแนวทางป้องกัน
สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเย็นต่อเนื่องถึงค่ำวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องกันประมาณ 3 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันระบายไม่ทันในหลายพื้นที่ และมีดินโคลนจากเทือกเขานาคเกิดไหลหลากลงในพื้นที่ราบตำบลกะรนและตำบลฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ทำให้บ้านและทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยบางส่วนต้องอาศัยหลับนอนในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางการจัดให้ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนที่เกิด นอกจากนี้ทางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ก็ได้ออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (อุทกภัย) ในพื้นที่ อ.เมืองภูเก็ต ประกอบด้วย พื้นที่ หมู่ 1 บ้านกะรน และหมู่ที่ 3 บ้านบางลา ต.กะรน กับ หมู่ที่ 4 บ้านนาใหญ่, หมู่ที่ 5 บ้านนากก, หมู่ที่ 6 บ้านฉลอง, หมู่ที่ 8 บ้านโคกทราย และหมู่ที่ 9 บ้านโคกโตนด ต.ฉลอง
ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล ปลัดจังหวัดภูเก็ต นำกำลังจิตอาสา 904 วปร. , ส่วนราชการ, กำลังพลจากทัพเรือภาคที่ 3, ตำรวจ, กำนันผู้ใหญ่บ้าน และท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของเทศบาลตำบลกะรนเจ้าของพื้นที่ รวมถึงเครื่องจักร อาทิ รถแบ็คโฮ รถขุดหน้าตักหลัง รถบรรทุกน้ำ เป็นต้น จากหน่วยต่างๆ อาทิ ทัพเรือภาคที่ 3, องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต, เทศบาลนครภูเก็ต, เทศบาลเมืองกะทู้ , เทศบาลตำบลราไวย์, เป็นต้น และเทศบาลตำบลกะรนเอง จำนวนรวมกว่า 10 คัน เข้าทำความสะอาดผิวการจราจร, บ้านเรือนประชาชน และขุดลอกคูระบายน้ำ ในพื้นที่ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต โดยเฉพาะบริเวณ ถนนปฎัก ซอย 18 หมู่ที่ 1 บ้านกะรน และ หมู่ที่ 3 บ้านบางลา ซึ่งได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน
จากการลงพื้นที่ พบประชาชนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากเทือกเขานาคเกิด กำลังทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเอง โดยมีการขนเอาทรัพย์สิน เช่น ที่นอน เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถใช้งานได้มาวางไว้ริมถนนเพื่อรอเจ้าหน้าที่มาทำการเก็บขนไปทำลาย ขณะเดียวกันพบว่า มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวจอดอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าภายในลำรางสาธารณะที่ทอดยอดจากที่ลาดเชิงเขานาคเกิดเพื่อนำน้ำไปออกบริเวณชายหาดกะรน มีขยะ ทั้งเศษวัสดุต่างๆ และเศษต้นไม้กิ่งไม้ ปะปนอยู่จำนวนมาก บางส่วนมีการเก็บใส่ถุงดำไว้เพื่อรอการเก็บขนไปกำจัด ขณะที่บนผิวจราจรภายในซอยก็เต็มไปด้วยดินโคลน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ฯ ได้มีการนำรถน้ำมาฉีดล้างทำความสะอาด นอกจากนี้บางส่วนทำการขุดลอกท่อระบายน้ำซึ่งอยู่บริเวณต้นซอยและติดกับถนนสายหลัก
นายสัญญา เรืองรัตน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในซอย 18 เล่าว่า เมื่อวาน (31 พ.ค.) ฝนตก ค่อนข้างหนักและกินเวลาค่อนนาน ทำให้มีน้ำไหลลงมาจากเขานาคเกิดค่อนข้างแรง มีเศษขยะต่างๆ ปะปนลงมาด้วย เนื่องจากพื้นที่ด้านบนมีการปรับพื้นที่โดยมีการนำขยะไปถมและไม่ได้มีการทำกำแพงกั้น เมื่อน้ำมีปริมาณมากก็ชะเอาเศษขยะต่างๆ ลงมาในลำรางที่อยู่ติดกับถนนหน้าบ้าน จนทำให้เกิดการอุดตันทำให้น้ำระบายไม่ทัน และไหลเอ่อจากลำรางมาท่วมบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ภายในซอยดังกล่าว เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกแต่จะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงหน้าฝน แต่ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี เพราะน้ำมาแรงและมีขยะปะปนมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ได้ทัน และเสียหายเกือบหมด รวมทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาบ้านบางหลังก็ไม่สามารถเข้านอนได้ ต้องไปนอนที่ศูนย์อพยพชั่วคราว จึงอยากให้หน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวให้ด้วย ทั้งการขุดลอกลำราง โดยเฉพาะในช่วงปลายลำราง ซึ่งพบว่าจากเดิมที่กว้างปัจจุบันเหลือแคบ ทำให้น้ำระบายไม่ทัน และชาวบ้านต้องเดือดร้อนทุกปี
ทางด้านนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะผู้อำนวยการสถานการณ์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการเข้าทำความสะอาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนแผนงานในระยะยาว ได้มอบหมายให้ท้องถิ่นทำการสำรวจคูคลองเส้นทางน้ำที่มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดปัญหา การก่อสร้างที่ปิดทางน้ำ หากพบว่าผิดก็จะมีมาตรการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ตลอดจนขยะต่าง ๆ ที่ทับถมและกีดขวางทางน้ำ ก็จะต้องดำเนินการจัดเก็บ
“ในส่วนของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า จะเป็นเรื่องของเครื่องอุปโภคบริโภคของแต่ละครัวเรือน ส่วนของโครงสร้างอาคารไม่ได้มีความเสียหายแต่อย่างใด ซึ่งได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนันผู้ใหญ่บ้านทำการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ทำการช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบของทางราชการต่อไป”
นายสุพจน์ กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงขณะนี้ พอจะสรุปสาเหตุของการเกิดความเสียหายในครั้งนี้เบื้องต้นได้ว่า เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ค่อนข้างมาก มีถึง 200 มิลลิเมตรในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และน้ำผ่านมาเร็ว ซึ่งโดยพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ตโดยปกติเมื่อมีฝนตกน้ำก็จะระบายลงทะเลอย่างรวดเร็ว แต่จุดอ่อนที่ทำให้เกิดปัญหา คือ การก่อสร้างอาคารขวางทางน้ำหรือลำรางสาธารณะ นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีการขุดลอกคูคลองหรือลำราง จึงทำให้น้ำระบายไม่ทันเอ่อล้นเข้าท่วมผิวจราจรและบ้านเรือนประชาชน หากไม่มีการแก้ไขหรือวางมาตรการที่ชัดเจนก็จะเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก และจะมีการท่วมขังนานขึ้น เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ