เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแก้เหลื่อมล้ำตรงจุด

เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแก้เหลื่อมล้ำตรงจุด

“ดร.ประสาร” เตือนอย่าตกหลุมพรางตัดงบกสศ. ระบุเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (CCT) แก้เหลื่อมล้ำตรงจุด ลงทุนน้อย ได้ผลมาก

วันนี้ (1 พ.ย.2562) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวปาฐกถา เรื่อง “นวัตกรรมในการจัดทำนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาบทเรียนจากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี พ.ศ. 2562” ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “จากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2562 สู่การใช้นวัตกรรม ทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย” จัดโดยกสศ. ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์  ว่า จากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโลกที่มีแนวโน้มลดลงในอัตราที่ถดถอยมากซึ่งสะท้อนสภาพปัญหาที่มีความยากมากขึ้น

ในขณะที่งบประมาณของภาครัฐและเงินบริจาคกลับมีแนวโน้มลดลง จึงมีความจำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเลือกใช้ มาตรการที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก  ซึ่งนวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ จึงอาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่มีภารกิจลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถใช้สนับสนุนข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน

ด้วยกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนา และเลือกนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาตามบริบทของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน

จากผลการวิจัยประเมินผลโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากกว่า 31 โครงการทั่วโลกด้วยกระบวนการ Randomized Control Trial (RCT) พบว่านโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยมาตรการที่เจาะจงไปที่ อุปสงค์ต่อการศึกษา (Demand for Education) มุ่งปัญหาความต้องการที่แท้จริงของนักเรียนและผู้ปกครองหลายมาตรการให้ผลลัพธ์และความคุ้มค่าทางงบประมาณที่สูงกว่ามาตรการด้านอุปทานของการศึกษา

เช่น การลดต้นทุนการเข้าถึงการศึกษา อย่างการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือ Conditional Cash Transfer (CCT) ต่ออัตราการมาเรียนของผู้เรียน ซึ่งเป็นมาตราการที่กสศ.ดำเนินการอยู่ หรือการสนับสนุน อาหารเช้า เครื่องแบบ และการเดินทาง แบบมีเงื่อนไข (Non-cash Conditional Transfer: NCT)

ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า แม้สถานการณ์ของประเทศไทยในเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นแม้มีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงมีโจทย์สำคัญหลายเรื่องที่ประเทศไทยควรเร่งจัดการอย่างเป็นระบบก่อนที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

ยังมีหลายส่วนที่มีความซับซ้อน เชื่อว่าการแก้ไขต้องทำที่ต้นทาง เริ่มจากการทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ  ซึ่งหลายหน่วยงานทำอยู่ ขณะที่กสศ.มีหน้าที่เสริมความรู้ ข้อมูล รวมถึงค้นหาแนวทางใหม่ๆ หาสาเหตุว่าการที่เด็กและเยาวชนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เต็มที่ เพราะสาเหตุอะไร

เด็กบางต้องเดินทางมาโรงเรียน บางคนอยู่ห่าง 20 กิโลเมตร เดินทางมา 20 บาท เดินทางกลับอีก 20 บาท ถ้าพ่อแม่ขายปลาไม่ได้ เด็กต้องอยู่บ้าน เพราะไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีเงินกินอาหารเช้า บางคนขาดเป็นบางวัน เพราะไม่มีชุดพละ ในขณะที่ แจกเครื่องแบบนักเรียน ปูพรมไปทั้งประเทศ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตเกษตร บอกว่าไม่ต้อง เค้าซื้อเครื่องแบบให้ลูกได้ ครูก็รวบรวมเพื่อไปบริจาค นี่คือสิ่งที่สะท้อนเรื่องของมาตรการฝั่งอุปทาน

"พวกเราต้องระวังอย่าตกหลุมพรางว่า งานของกสศ.ซ้ำซ้อน จนขอตัดงบประมาณ แต่ความจริงมันคนละวง คนละภารกิจ ความตั้งใจของคณะกรรมการบริหารกสศ. กสศ.จะไม่ทำงานในสเกลใหญ่ แต่เราจะหามุมเล่นดร.ประสาร กล่าว