'อุดม' บอกรัฐธรรมนูญ 60 ไร้ความหมาย หากปฏิรูปตำรวจ-การศึกษาไม่สำเร็จ
“อุดม” บอกรัฐธรรมนูญ 60ไร้ความหมาย หากปฏิรูปตำรวจ-การศึกษาไม่สำเร็จ ยอมรับบทเฉพาะกาลไม่สวยหรู แต่ต้องมีคนดูแล แต่คนดูแลไม่ใช่พระเจ้ามาโปรด อาจต้องใช้กำลัง แย้ม รัฐบาลจ่อชง 2 ร่างกม.ปฏิรูปตำรวจ เข้าสภาฯ
นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัต (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ และ ร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ...ฐานะอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งในงาน 60 ปี ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต ในหัวข้อ รัฐธรรมนูญ 2560 กับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ว่า อยู่ระหว่างที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ใน 3 ประเด็น อาทิ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจากคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์, สร้างความเสมอภาค ไม่ล่าช้า ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงต้องมีระบบถ่วงดุลการสืบสวน สอบสวน ขณะเดียวกันประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามในหมวดปฏิรูปที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ การศึกษา หากไม่สำเร็จ ตนมองว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันจะไม่มีความหมาย
"กระบวนการยุติธรรม ถูกมองว่าเป็นเรื่องของความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เมื่อมีผู้ทำผิดกฎหมายต้องถูกลงโทษ ขณะเดียวกันต้องมีมติของการเยียวยาและป้องกันไม่ให้ถูกกดขี่ ทั้งนี้มีนักวิชาการพูดถึงสิทธิ เสรีภาพของผู้ต้องหา จะจับผู้ร้ายไม่ได้ เพราะถูกมองว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งนักวิชาการที่มองในมุมอิโนเซ้นต์ ไม่ประสากับชีวิตหรือสังคม แต่ผมได้ฟังและแลกเปลี่ยนมุมมอง และมองว่าสิทธิเสรีภาพของคนที่ถูกกล่าวหาไม่ใช่กระทำฐานะผู้กระทำผิด หรือ เหมือนคนปกติได้ แต่ต้องไม่ทำต่อเขาเหมือนเป็นสัตว์เดรัจฉาน ดังนั้นความสำคัญของกระบวนการยุติธรรม คือ การปฏิบัติด้วยเหตุแลผล” นายอุดม กล่าว
นายอุดม กล่าวด้วยว่าสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีนักวิชาการที่ให้มุมมองว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เพื่อใช้แก้ไขสถานการณ์ทางการเมือง และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนมักจะถูกฉีกทิ้ง ซึ่งตนได้ตั้งคำถามด้วยว่ารัฐธรรมนูญที่ตนร่วมยกร่างนั้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์หรือวางหลักการอะไรไว้ให้กับสังคม ทั้งนี้ตนยอมรับว่าบทเฉพาะกาลหลายเรื่องไม่น่าชื่นชม แต่ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองต้องมีผู้ดูแล ซึ่งคนที่ดูแลไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้ามาโปรด แต่เหตุผลที่ต้องทำ เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ แม้จะมีการใช้กำลังและตบตีบ้างเล็กน้อย