เงินบาทไทย เป็น Safe Haven อย่างที่เขาว่ากันจริงๆ หรือ?
สกุลเงินที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Safe Haven อย่างสวิสฟรังก์และเยน นอกเหนือจากสินทรัพย์ปลอดภัยอื่นๆ ที่เหล่านักลงทุนจะลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน แต่วันนี้หลายคนบอกว่าเงินบาทไทยกลายเป็นน้องใหม่ของสกุลเงิน Safe Haven เนื่องด้วยภาวะเงินแข็งค่าขึ้นมาก
เงินบาทไทยยังคงทำลายสถิติอย่างต่อเนื่องนะครับ โดยเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เงินบาทไทยก็ได้ทำการแข็งค่าไปอีก จนถือว่าแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งในทุกๆ ครั้งที่มีการพูดถึงเหตุผลที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า สาเหตุหนึ่งที่มักจะโผล่ขึ้นมาอยู่เสมอ เมื่อเงินบาทไทยมีการแข็งค่า คือ การที่เงินบาทไทย มีลักษณะเป็น Safe Haven ในที่นี้ Safe Haven หมายถึงลักษณะของเงินบาทไทย ที่เป็นที่น่าดึงดูดในสายตานักลงทุนต่างชาติ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเลือกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและถือทรัพย์สินในค่าเงินบาท ส่งผลให้ความต้องการเงินบาทเพิ่มมากขึ้น และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามลำดับ
คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วเงินบาทไทยนั้นเป็น Safe Haven อย่างที่เราเข้าใจกันหรือไม่ โดยเริ่มต้น ผมขอกล่าวถึงนิยามที่ละเอียดมากขึ้นของ Safe Haven ก่อนนะครับเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน โดยทั่วไปแล้ว Safe Haven หมายถึง สินทรัพย์ที่มีมูลค่าคงเดิมหรือสูงขึ้นในยามที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงหรือในช่วงที่ความเสี่ยงในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วในช่วงเวลาเช่นนี้ สินทรัพย์อื่นๆ ส่วนใหญ่ในตลาดจะเป็นไปทางตรงกันข้ามที่จะมีมูลค่าลดลง ตัวอย่างของสินทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างลงความเห็นว่าเป็น Safe Haven หลักๆ ประกอบด้วย ทองคำ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และสกุลเงินต่างประเทศ
บางสกุล ซึ่งสกุลเงินที่เป็น Safe Haven นั้น จะเป็นสกุลเงินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น หรือแข็งค่าขึ้น (appreciation) เมื่อความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่าเป็น Safe Haven ก็คือสกุลเงินเยนของญี่ปุ่น และสกุลเงินฟรังค์ของสวิตเซอร์แลนด์
การศึกษาเพื่อทดสอบความเป็นสกุลเงิน Safe Haven ของเงินบาทไทยจึงจำเป็นต้องเปรียบเทียบทิศทางของค่าเงินกับสภาพความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งจากดัชนีชี้วัดความเสี่ยงหลากหลายประเภท ดัชนีที่นิยมใช้วัดความเสี่ยงเพื่อศึกษาความเป็น Safe Haven ของสกุลเงิน คือดัชนี VIX หรือ CBOE Volatility Index ที่ใช้วัดมุมมองของตลาดเกี่ยวกับความผันผวนในอนาคต โดยอาศัยคำนวณจาก options ของดัชนี S&P 500 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยตลาดซื้อขายอนุพันธ์ชิคาโก (Chicago Board Options Exchange)
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราค่าเงินบาทต่อดอลลาร์และดัชนี VIX ที่ดำเนินการโดย TMB Analytics เราพบว่า ความสัมพันธ์มีความแตกต่างกันในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยตั้งแต่ช่วงปี 2556 จนถึงช่วง ปี 2561 เราพบว่าเมื่อดัชนี VIX สูงขึ้น สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทไทยจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งไม่สอดคล้องกับนิยามสกุลเงิน Safe Haven
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ของเงินบาทไทย และดัชนี VIX เริ่มกลายเป็นทิศทางตรงข้ามกับช่วงเวลาก่อนหน้า นั่นคือเมื่อดัชนี VIX ปรับสูงขึ้น ค่าเงินบาทกลับแข็งค่ามากขึ้นตามไป จากการศึกษาของเราจึงอาจสรุปได้ว่า เงินบาทไทยนั้น ถือเป็นสกุลเงิน Safe Haven น้องใหม่ที่พึ่งจะได้รับสถานะมาเมื่อไม่นานนี้เอง
สาเหตุที่ทำให้สกุลเงินบาทมีลักษณะเช่นนี้ น่าจะเป็นสาเหตุมาจากปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยอยู่ในระดับดีใกล้เคียงสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Safe Haven ของโลกมาอย่างยาวนาน อย่างสวิสฟรังก์ และเยน เพราะประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำที่ 12% ต่อ GDP ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็อยู่ที่ 42% ซึ่งถือว่าไม่ได้สูงมากนัก อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับสูง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ของไทยคิดเป็น 8% ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น คิดเป็น 11% และ 4% ตามลำดับ
ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ค่าเงินบาทจะได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างชาติอย่างที่เราเห็นกัน ดังนั้นการที่ค่าเงินบาทเป็น Safe Haven จึงอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและผันผวนสูงในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ภาคธุรกิจและนักลงทุนจึงควรเตรียมรับมือความเสี่ยงจากค่าเงินบาทไว้ให้พร้อมครับ