มสด. จุดประกายแนวคิด ห้องสมุดยุคใหม่ แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ศตวรรษที่ 21
มสด. จัดงาน Online Information & Education Conference 2019 “ ห้องสมุดยุคใหม่ แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ศตวรรษที่ 21” จุดประกายแนวคิดใหม่ จัดความรู้ พัฒนาห้องสมุด
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และประธานกรรมการที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (OTEPC) ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน Online Information & Education Conference 2019 ว่า สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับ บริษัท iGroup Asia Pacific จัดดำเนินโครงการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ เพื่อสร้างแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการจัดการองค์ความรู้พัฒนาห้องสมุดนำเสนอแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของนานาประเทศ พัฒนางานห้องสมุดของประเทศไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด คือ การพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการพัฒนางานของห้องสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้ง เป็นแนวทางแก่ผู้บริหารในการวางแผนการบริหารงานห้องสมุดให้เกิดประสิทธิภาพ และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ระหว่างผู้บริหาร เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานของห้องสมุดใน ศตวรรษที่ 21 รศ.ดร.สุขุม กล่าวต่อว่า การสัมมนาในครั้งนี้ นำเสนอภายใต้แนวคิด “ The Changing Environment and Libraries role ” โดยมีวิทยากรจากนานาประเทศมาบรรยายให้ความรู้อย่างหลากหลาย
รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้มอบแง่คิดในการบริหารจัดการพื้นที่แหล่งการเรียนรู้ หรือห้องสมุดยุคใหม่ ว่า ควรจัดให้เหมาะสมกับเด็กในยุคปัจจุบัน (Gen Y) เริ่มต้นจากการจัดห้องสมุดให้เป็นสถานที่พักผ่อน มี Co-working Space ที่เป็นพื้นที่กว้างขวางให้สามารถพูดคุยกันได้ มีบริการ ปลั๊กไฟ Wi-Fi และบริการน้ำชา กาแฟ ขนมอบ
กระบวนการเหล่านี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้สร้างพื้นที่เหมือนกันหมด ทั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง นครนายก หัวหิน ตรัง ลำปาง เพื่อไว้เป็นแหล่งเรียนรู้และสืบค้นข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ สมาร์ทโฟน คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลออนไลน์ (Online Database) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) วารสาร (e-Journal) ข่าวสารต่างๆที่เป็นประโยชน์ ได้อย่างง่ายจากทุกมุมโลก โดยเรียกให้สวยงามขึ้นว่า Café Library
ดังนั้น ห้องสมุดในศตวรรษ 21 ต้องปรับบทบาทของตนเองให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หวังว่าแนวคิดส่วนหนึ่งนี้ จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อบรรณารักษ์ ผู้อำนวยการห้องสมุด นักสารสนเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะได้รับองค์ความรู้ล่าสุดที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการพัฒนางานห้องสมุดของประเทศไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น