เปิดอุปสรรคท่องเที่ยว ‘ฮาลาล’ อินโดนีเซีย
ความพยายามของอินโดนีเซียผลักดันการท่องเที่ยวฮาลาลให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น กำลังโดนท้าทายจากเทศกาลกินหมูของชาวคริสต์
งานเทศกาลที่มาพร้อมกับการต่อต้านจัดขึ้นที่บริเวณทะเลสาบโตบาบนเกาะสุมาตรา มีทั้งการแข่งหมู ประกวดหมูอ้วน แฟชั่นโชว์หมู งานจัดขึ้นในช่วงที่เกาะบาหลี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังกำลังต่อต้านการขยายบริการที่เอื้อต่อชาวมุสลิมด้วย
นักวิจารณ์กล่าวว่า แผนการของรัฐบาลที่ต้องการใช้การท่องเที่ยวฮาลาลเป็นตัวเพิ่มรายได้เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิคนกลุ่มน้อยในอินโดนีเซีย ประเทศมุสลิมใหญ่สุดของโลก เดิมรัฐบาลเคยใช้นโยบายนี้บนเกาะบาหลี ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวฮินดู เมื่อประสบความสำเร็จก็อยากขยายไปทั่วประเทศ
นักวิจารณ์เตือนด้วยว่า อินโดนีเซียที่มีประชากร260 ล้านคน เกือบ 90% นับถือศาสนาอิสลาม กำลังเปลี่ยนแนวทางอย่างฉับพลัน เมื่อนักการศาสนาอนุรักษนิยมดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี กลุ่มเคร่งจารีตออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวในสังคมมากขึ้น
น่าสังเกตว่าหลายปีหลังชื่อเสียงเรื่องความเป็นมุสลิมสายกลางยอมรับความแตกต่างของอินโดนีเซียถูกบั่นทอนลง
อาลี มุนฮานิฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอิสลาม จากมหาวิทยาลัยอิสลามไซอารีฟ ฮิดายาตุลลาห์ จาการ์ตา เตือนว่า การผลักดันการท่องเที่ยวฮาลาลในพื้นที่ศาสนากลุ่มน้อย ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์ พุทธ และฮินดู อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
“ปรากฏการณ์นี้ส่งสัญญาณถึงความพยายามสถาปนาแนวคิดอนุรักษนิยม” นักวิชาการกล่าวและว่า เกาะบาหลีทำการท่องเที่ยวประสบความสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องแปะป้าย “ฮินดู”
แต่ผู้สนับสนุนนโยบายกล่าวว่า เกิดความเข้าใจผิดต่อการท่องเที่ยวฮาลาล
“มีความเข้าใจกันไปผิดๆ ว่าการท่องเที่ยวฮาลาลคือกระบวนการทำให้เป็นอิสลาม นั่นเป็นความคิดที่ผิด และเป็นสาเหตุให้บางคนมีปฏิกริยารุนแรงกับแนวคิดนี้” ไซนุต ตาอูฮิด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการศาสนากล่าว พร้อมขยายความ
“การท่องเที่ยวฮาลาลคือการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม เช่น ห้องละหมาด เป็นการอำนวยความสะดวกมากกว่าจะมาทำให้เป็นอิสลาม”
แต่คนแถวทะเลสาบโตบาไม่ได้คิดแบบนั้น คนแถวนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบาตัก นับถือศาสนาคริสต์ รับประทานเนื้อหมูเป็นหลัก และหาเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงหมู
เดือนที่แล้ว เอดี ราห์มายาดี ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างความฉงน เมื่อเขาเผยว่า ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรกับอิสลาม เช่น เปิดร้านอาหารฮาลาลและมัสยิดเพิ่ม ห้ามฆ่าหมูในที่สาธารณะ เพราะนักท่องเที่ยวมุสลิมเห็นแล้วอาจไม่กลับมาเที่ยวอีก
แต่โตกู สิโมรังกีร์ ผู้จัดงานเทศกาลกินหมูเห็นต่างว่า แนวคิดการท่องเที่ยวฮาลาลกำลังสร้างความแตกแยกให้ประชาชน ทำลายการท่องเที่ยวที่ทะเลสาบโตบา
เทศกาลกินหมูมีผู้ร่วมงานราว 1,000 คน รวมทั้งเด็กๆ ที่สนุกสนานกับการระบายสีการ์ตูนหมู ส่วนผู้ใหญ่ดูการประกวดหมูอ้วน
“วัฒนธรรมบาตักโดดเด่นเรื่องหมู พวกเราเลี้ยงหมูหาเลี้ยงชีพมาหลายชั่วอายุคน” เอโด ซิอันตุริ นักเรียนมัธยมกล่าว
ขณะที่นักท่องเที่ยวอย่างซาบรีนา ซินการิมบุน นักศึกษามุสลิมแต่งกายด้วยฮิญาบ อยากดูประกวดแฟชั่นโชว์หมู อยากรู้ว่าตัวไหนจะได้รางวัลแต่งตัวสวยงามที่สุดไปครอง
“ดิฉันไม่เห็นด้วยกับแนวคิดท่องเที่ยวฮาลาล เพราะนี่คือวัฒนธรรมบาตัก และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่มุสลิม” นักศึกษาสาวให้ความเห็น
ในที่อื่นๆ บ่อยครั้งที่การท่องเที่ยวฮาลาลถูกมองว่าเป็นโอกาสทำเงินได้มหาศาล อย่างไทยและไต้หวันเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเอเชียที่กำลังเจาะตลาดท่องเที่ยวฮาลาล ที่ผลการศึกษาปี 2560 พบว่า มีมูลค่าถึงปีละ 3 แสนล้านดอลลาร์
ส่วนอินโดนีเซียเดือนนี้เพิ่งใช้ระเบียบใหม่ว่าด้วยการติดป้ายฮาลาลในสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ เนื่องจากรัฐบาลเล็งจับนักท่องเที่ยวจากประเทศอิสลามอื่นๆ เพื่อหนุนโครงการ “10 บาหลีใหม่” รวมถึงทะเลสาบโตบาด้วย แต่ความพยายามดึงนักท่องเที่ยวมุสลิมก็เจอกระแสตีกลับ
ฤดูร้อนนี้ทางการเกาะลอมบ็อก ติดกับเกาะบาหลีที่มีบริการเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมุสลิมหลายแห่ง เลิกแผนเตรียมตั้งค่ายพักแรมแยกนักไต่เขาหญิงชาย ที่อุทยานแห่งชาติภูเขารินจานีอย่างรวดเร็ว หลังถูกสังคมต่อต้าน
ขณะเดียวกันร้านอาหารสองแห่งในมากัสซาร์ บนเกาะสุลาเวสีจำเป็นต้องปิดตัวลง หลังจากมุสลิมกลุ่มหนึ่งโอดครวญมาเมื่อเดือน ก.ค.ว่า กลิ่นเนื้อหมูอบอวลไปถึงมัสยิดและร้านอาหารฮาลาลที่อยู่ใกล้เคียง
กลับไปที่สุมาตราเหนือ พื้นที่จัดงานเทศกาลกินหมู มูฮัมหมัด อิคห์ซาน โฆษกผู้ว่าราชการจังหวัดเผยว่า ผู้บังคับบัญชาตนถูกเข้าใจผิด
“เขาแค่ต้องการทำให้ทะเลสาบโตบาเป็นสถานที่ที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมุสลิมเท่านั้น รวมทั้งหวังควบคุมปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลจากการทำฟาร์มหมูด้วย สิ่งที่เขาต้องการก็แค่ทำให้อะไรๆ เข้าที่เข้าทาง ไม่ได้ทำให้เป็นสถานที่ฮาลาล” โฆษกชี้แจง
ข้อมูลจากทอมสันรอยเตอร์ และดีนาร์สแตนดาร์ด บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในสหรัฐ ระบุว่า การท่องเที่ยวฮาลาลไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่มีชาวมุสลิม คิดเป็น 11.6% ของค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวโลก แต่ตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เว็บไซต์นิกเคอิรายงานในเดือน ส.ค.ว่า เมื่อ 10 ปีก่อน คนรุ่นเบบี้บูมนิยมท่องเที่ยวฮาลาล เดินทางไปประเทศมุสลิม เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ตุรกี โมร็อกโก อียิปต์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตอนนี้การท่องเที่ยวฮาลาลเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่โตเร็วมาก ประกอบกับโซเชียลมีเดีย เช่น อินสตาแกรมและสายการบินราคาประหยัดอย่างแอร์เอเชีย ได้รับความนิยมสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาและนักท่องเที่ยวฮาลาลเดินทางไปประเทศเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไทย และเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย